ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย ประเมินตลาดอาคารสำนักงานไตรมาส 3 ความต้องการเช่าพื้นที่สำนักงานเพิ่ม หลังจากที่หลายบริษัทกลับเข้ามาทำงานในออฟฟิศมากขึ้น ชี้อุปทานเข้ามาใหม่ในช่วงปลายปีนี้ 208,000 ตารางเมตร ส่วนปีหน้าพุ่งพรวด583,000 ตารางเมตร
นายปัญญา เจนกิจวัฒนาเลิศ กรรมการบริหารและหัวหน้าส่วนงานตัวแทนนายหน้าพื้นที่สำนักงาน บริษัทไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวถึงภาพรวมตลาดอาคารสำนักงานในไตรมาส 3 ว่า ปริมาณการซื้อขายมากขึ้นกว่าไตรมาสที่แล้ว ความต้องการเช่าพื้นที่สำนักงานเกิดจากหลายๆ บริษัทกลับเข้ามาทำงานในออฟฟิศ และการยกเลิกอาคารสำนักงานทำให้อัตราการครอบครองตลาดกลับมาอยู่ที่ 81% โดยเฉพาะอาคารสำนักงานที่มีคุณภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น สอดคล้องกับธุรกิจส่วนใหญ่ทั่วโลก
โดยอุปทานอาคารสำนักงานทั้งหมดในกรุงเทพฯ ลดลงไปประมาณ 31,000 ตารางเมตร หรือ 0.5% เมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส มีอาคารสำนักงานใหม่ 1 แห่งสร้างแล้วเสร็จ และมีอีก 3 อาคารที่ถูกถอดออกจากตลาดสำนักงานให้เช่า ส่วนพื้นที่อาคารสำนักงานสีเขียว (Sustainble Green Office Building) ขยายตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 992,000 ตร.ม.ตารางเมตร คิดเป็น 12.7% ต่อปี ค่าเฉลี่ยเติบโตต่อปีอยู่ที่ 13.4%
ขณะที่ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาไม่มีอาคารสำนักงานเปิดใหม่ใน เนื่องด้วยความล่าช้าในการก่อสร้าง ทำให้บางโครงการที่กำหนดจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2565 ถูกเลื่อนออกไปเป็นช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ดังนั้นอุปทานเข้ามาใหม่ในช่วงปลายปี 2565-2567 คาดว่าจะอยู่ที่ 208,000, 583,000 และ 295,000 ตารางเมตร ตามลำดับ ขนาดพื้นที่ให้เช่าทั้งหมดจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.75 ล้านตารางเมตร คิดเป็น 30% ของระดับสำนักงานในปัจจุบัน โดยประมาณ 65% ของอุปทานใหม่จะอยู่ในย่านศูนย์กลางธุรกิจ
ด้านอัตราการเช่าพื้นที่เพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 80,000 ตารางเมตรเป็น 147,000 ตารางเมตร ขณะที่พื้นที่ว่างเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจาก-36,000 ตารางเมตรเป็น -103,000 ตารางเมตร แต่อย่างไรก็ตามปริมาณการเช่าในไตรมาส 3 เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากไตรมาส 2 และครอบครองโดยผู้เช่าที่ย้ายพื้นที่จากทำเลอื่นมากกว่าผู้เช่าใหม่
ส่วนค่าเช่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 802 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือนในไตรมาส 3 ซึ่งต่ำกว่าการเติบโตของค่าเช่าในรอบ 10 ปีเฉลี่ย 3.6% ต่อปี ส่วนการเติบโตของค่าเช่าอาคารสำนักงานสีเขียวต่ำที่สุดในไตรมาส 3 โดยลดลง -1.3% ไตรมาสต่อไตรมาส และ -0.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
ขณะที่อาคารสำนักงานนอกย่านศูนย์กลางธุรกิจมีค่าเช่าเฉลี่ยลดลง 0.4% ไตรมาสต่อไตรมาส เป็น 658 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน ในขณะที่อัตราการครอบครองเพิ่มขึ้น 1.7% โดยเขตเพชรบุรี – พระราม 9 – รัชดา มีการเติบโตน้อยที่สุดในไตรมาส 3 เนื่องจากค่าเช่าและอัตราการครอบครองลดลง 1.2% เมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส ส่วนอัตราการเช่าพื้นที่ในเขตพหลโยธิน-วิภาวดี เพิ่มขึ้นกว่า 3.7% ไตรมาสต่อไตรมาส ขณะที่การดูดซับสุทธิติดลบเป็นผลมาจากอาคาร 2 แห่งในบริเวณดังกล่าวถูกถอดออกจากตลาดเช่า และเขตบางนา-ศรีนครินทร์เป็นพื้นที่เพียงแห่งเดียวในไตรมาส 3 ที่มีค่าเช่าเพิ่มขึ้น อัตราการครอบครองเพิ่มขึ้น และการดูดซับสุทธิเพิ่มขึ้นทั้งรายไตรมาสและรายปี