ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ ประกาศแผนธุรกิจปี 2566 เตรียมเปิดโครงการใหม่ต่อเนื่อง 10 – 12 โครงการ มูลค่ารวม 7,000 – 8,000 ล้านบาท พร้อมตั้งเป้ายอดขาย 8,600 ล้านบาท และยอดรับรู้รายได้ 6,850 ล้านบาท เพิ่มขึ้น10%จากปี 2565 เน้นการลงทุนบ้านจัดสรรเป็นหลักในรูปแบบบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์ราคาขายตั้งแต่ 2-9 ล้านบาทในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ตั้งเป้าทยอยเปิดตัวโครงการใหม่เฉลี่ยเดือนละ 1 โครงการ
นายไชยยันต์ ชาครกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงทิศทางตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2566 ว่า ภาพรวมตลาดอสังหาฯในปีนี้คาดว่าจะเติบโตจากปีก่อนหน้าประมาณ 5% แม้สภาวะเศรษฐกิจและสภาวะอุตสาหกรรม ในปีนี้จะยังไม่เอื้ออำนวยมากนัก แต่ยังมีปัจจัยบวกจากธุรกิจท่องเที่ยวที่เรอ่มฟื้นตัว ทำให้พนักงานที่ทำงานอยู่ในธุรกิจท่องเที่ยวมีรายได้และกลับมาซื้อที่อยู่อาศัยอีกครั้ง นอกจากนี้ยังมีการลงทุนของภาครัฐและการบริโภคของประชาชนภายในประเทศที่ขยายตัวมากขึ้น รวมทั้งอาจจะมีการเลือกตั้งใหม่และจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ทำให้สถานการณ์ต่างๆเริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น
ดังนั้นบริษัทจึงได้วางแผนเดินหน้าสู่การเป็น National Property Company โดยตั้งเป้าเปิดโครงการใหม่ประมาณ 10 – 12 โครงการ มูลค่ารวม 7,000 – 8,000 ล้านบาท ตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 8,600 ล้านบาท และยอดรับรู้รายได้ 6,850 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขยายตัว 10% สูงกว่าภาพรวมตลาดที่คาดว่าจะขยายตัวราว 3 – 5%
โดยเน้นการลงทุนในรูปแบบบ้านจัดสรรเป็นหลักในรูปแบบบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์ราคาขายตั้งแต่ 2-9 ล้านบาทในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล โดยเบื้องต้นมีที่ดินรองรับการพัฒนาแล้ว 60% จะทยอยเปิดตัวโครงการใหม่เฉลี่ยเดือนละ 1 โครงการ
“ในปี 2566 นี้คาดว่าเศรษฐกิจโดยรวมของไทยจะขยายตัวได้ประมาณ 3.6 – 4.0% แต่ยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ อาทิ ความเสี่ยงที่จะเกิด Recession ของเศรษฐกิจยุโรป และสหรัฐฯ ความเสี่ยงที่เกิดจากเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ ในขณะที่กำลังซื้อภายในประเทศที่ยังอ่อนแอ ภาระหนี้ครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง ท่ามกลางแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของภาระดอกเบี้ย ความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเป็นความท้าทายในการดำเนินธุรกิจอสังหาฯในปีนี้”
นายชูรัชฏ์ ชาครกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทมีแนวคิดการดำเนินธุรกิจเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน รวมถึงการบริหารงานที่คำนึงถึงการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล ภายใต้นโยบาย Environmental, Social and Governance : ESG รวมถึงการก้าวสู่การเป็น Digital Organization เต็มรูปแบบ
ส่วนแผนการตลาดในปีนี้จะใช้กลยุทธ์ Customer Centric ผ่านทั้ง Lifestyle Marketing และ Experience Marketing โดยต่อยอดการทำตลาดผ่านช่องทาง Digital ที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้ตรงกลุ่มมากขึ้น และมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น นอกจากนี้ได้นำ Big Data มาใช้ในการวิเคราะห์หา Customer Insights