“วิชัย วิรัตกพันธ์”ผอ.ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯหวั่นตั้งรัฐบาลใหม่ล่าช้า อาจจะส่งผลอนุมัติงบประมาณแผ่นดินปีงบประมาณ 2567ไม่ทัน ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและ GDP รวมถึงภาคธุรกิจอสังหาฯ ที่ปีนี้ประเมินว่าตลาดอสังหาฯจะติดลบทั้งฝั่งดีมานด์และซัพพลาย แนะภาครัฐตัดเงินประมาณ 10% จากเงินโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในแต่ละปีที่มีมูลค่าสูงถึง 1 ล้านล้านบาท จัดตั้งเป็นเงินกองทุนเพื่อช่วยเหลือเป็นเงินค้ำประกันให้กับคนที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัย
ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ กล่าวว่า หากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่มีความล่าช้า จะส่งผลกระทบต่อการจัดทำงบประมาณแผ่นดินใหม่ เนื่องจากงบประมาณแผ่นดินสำหรับปีงบประมาณ 2566 ที่เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 จะสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายน 2566 ดังนั้นในช่วงระยะเวลาที่เหลืออีก 4-5 เดือนนี้หากมีการจัดทำงบประมาณแผ่นดินใหม่ไม่ทัน จะกระทบต่องบรายจ่ายและการดำเนินงานของภาครัฐ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศเกิดความล่าช้าตามไปด้วย และทำให้เกิดผลกระทบต่อ GDP ของประเทศ ที่มีผลกระทบต่อเนื่องถึงภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพราะรายได้ของประชาชนจะลดลง ส่งผลให้กำลังซื้อที่อยู่อาศัยลดลง ทำให้เกิดการชะลอตัวในฝั่งของอุปสงค์ที่เกิดจากผลกระทบของปัจจัยลบต่างๆ
ทั้งนี้ศูนน์ข้อมูลฯประเมินว่าตลาดอสังหาฯในปี 2566 จะติดลบทั้งฝั่งดีมานด์และซัพพลายเมื่อเทียบกับปี 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งมีอัตราการเติบโตค่อนข้างสูง เพราะมีปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นอสังหาฯของรัฐ ทั้งการลดค่าธรรมเนียมการโอน และจดจำนอง การผ่อนมาตรการ LTV ของธนาคารแห่งประเทศไทยสำหรับการซื้อบ้านสัญญาที่ 2และ 3 ที่ได้สิ้นสุดไปเมื่อช่วงสิ้นปี 2565 ที่ผ่านมา
โดยเชื่อมั่นว่ารัฐบาลชุดใหม่น่าจะเข้ามาช่วยผลักดันมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจอสังหาฯใหม่ๆออกมา เพื่อกระตุ้นให้ตลาดอสังหาฯกลับมาฟื้นตัวและขยายตัวได้มากขึ้น ขณะที่ตลาดอสังหาฯในปีนี้ยังต้องพึ่งพากำลังซื้อจากกลุ่มลูกค้าต่างชาติ โดยเฉพาะตลาดคอนโดมิเนียม จะเห็นได้จากข้อมูลในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้กำลังซื้อจากต่างชาติยังเติบโตต่อเนื่องจากช่วงไตรมาส 3 และ 4 ที่ผ่านมา ดังนั้นหากรัฐบาลส่งเสริมและสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว ก็จะช่วยดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างชาติสนใจท่าจะพักอาศัยอยู่ในเมืองไทยระยะยาวมากขึ้นและช่วยกระตุ้นภาคธุรกิจอสังหาฯให้กลับมาฟื้นตัวเร็วขึ้น
ขณะเดียวกันภาครัฐควรสร้างโอกาสให้ประชาชนสามารถซื้อที่อยู่อาศัยได้ง่ายขึ้น ซึ่งที่ผ่านมามีการประกาศมาตรการควบคุม LTV แต่ไม่มีทางเลือกให้กับผู้บริโภคที่จะซื้อบ้าน ซึ่งเมื่อเทียบกับต่างประเทศจะมีการประกันสินเชื่อและมีกลไกต่างๆออกมาช่วยเหลือคนซื้อบ้าน ซึ่งที่ผ่านมามีภาคเอกชนนำเสนอให้ภาครัฐนำเงินโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในแต่ละปีที่มีมูลค่าสูงถึง 1 ล้านล้านบาท หากตัดเงินส่วนนี้ประมาณ 10% จัดตั้งเป็นเงินกองทุนขึ้นมา และสะสมเพิ่มทุกปีๆละ 1% เพื่อนำเงินกองทุนส่วนนี้มาช่วยเหลือเป็นเงินค้ำประกันให้กับคนที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัย
โดยมีองค์กรเข้ามาบริหารจัดการเงินกองทุนนี้ รวมทั้งอาจจะมีการปฏิรูประบบประกันสังคมเหมือนกับประเทศสิงคโปร์ ซึ่งมีการหักเงินสมทบในอัตราที่สูง เพื่อให้คนที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัย สามารถนำเงินที่ถูกหักสะสมและเงินที่รัฐบาลจ่ายสมทบนำไปใช้จ่ายเป็นเงินดาวน์เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยได้
สำหรับมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาฯหรือมาตรการความช่วยเหลือกลุ่มคนซื้อบ้าน ดร.วิชัยเสนอให้ภาครัฐต้องจำแนกมาตรการกระตุ้นที่ตรงจุดให้มากขึ้น ควรโฟกัสไปที่กลุ่มคนที่มีความจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือเท่านั้น โดยจะต้องมีระบบดาต้าเบสเข้ามาเก็บรวบรวมข้อมูลฐานรายได้ของประชาชนที่ต้องการซื้อบ้านแต่ไม่มีความสามารถที่จะซื้อบ้านได้จริง เช่น การตรวจสอบข้อมูลจากการยื่นเสียภาษีประจำปี ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐมีการกำหนดเพดานความช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มคนที่ซื้อบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ซึ่งลูกค้าในกลุ่มนี้มีทั้งคนที่มีกำลังซื้อสูงและคนที่มีฐานรายได้ต่ำ ทำให้คนที่มีรายได้น้อยส่วนหนึ่งถูกปิดโอกาสที่จะมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง