“คลินิกแก้หนี้ by SAM” เผยผลงาน 6 ปี ช่วยคนเป็นหนี้เสียบัตร เข้าโครงการฯ แล้วประมาณ 1.2 แสนบัญชี ภาระหนี้เฉียด 8 พันล้านบาท โชว์ตัวเลขนิวไฮหลังปรับเกณฑ์หนี้เสียค้างชำระเกิน 120 วัน เมื่อ 1 พ.ค. ที่ผ่านมา ยอดผู้สนใจสมัครพุ่งสูงกว่า 1.7 หมื่นราย หรือเพิ่มกว่าเดือนก่อนหน้าถึงร้อยละ 280
นายธรัฐพร เตชะกิจขจร กรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) หรือ SAM เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ปี 2560 SAM ได้รับมอบหมายจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้เป็นผู้ดูแล “โครงการคลินิกแก้หนี้ by SAM” ถึงปัจจุบัน มีจำนวนลูกค้าที่ลงนามสัญญาเข้าร่วมโครงการฯ แล้วทั้งสิ้น 40,030 ราย หรือ 116,947 บัญชี คิดเป็นภาระหนี้เงินต้นตามสัญญา 7,928 ล้านบาท โดยเป็นลูกค้าที่ชำระหนี้เสร็จสิ้นแล้ว สามารถกลับไปดำเนินชีวิตหรือธุรกิจได้ตามปกติ จำนวน 1,312 ราย หรือ 3,351 บัญชี คิดเป็นภาระหนี้เงินต้นตามสัญญาประมาณ 179 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ยังมีลูกค้าบางส่วนที่ไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไขทำให้ต้องออกจากโครงการฯ และเสียโอกาสในการแก้ไขหนี้ “โครงการคลินิกแก้หนี้ by SAM” จึงได้มีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่เริ่มมีปัญหาการผ่อนชำระ โดยจะพิจารณาปรับแผนการชำระหนี้ที่เหมาะสมให้กับลูกค้าเป็นรายกรณีตามเหตุผลและความจำเป็น เพื่อให้ลูกค้าสามารถผ่อนชำระได้ตามความสามารถที่แท้จริงอย่างต่อเนื่องและปลดหนี้ได้ในที่สุด นับว่า “โครงการคลินิกแก้หนี้ by SAM” เป็นหนึ่งเครื่องมือสำคัญของการแก้ไขปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนในการดูดซับและลดปริมาณหนี้เสียของระบบสถาบันการเงินในประเทศ รวมทั้งช่วยเหลือ ฟื้นฟู และดูแลคนไทยที่มีปัญหาหนี้สินให้ “อยู่รอด อยู่ได้ อยู่เติบโต อยู่ยั่งยืน” อันเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม “หลังจากที่ได้มีการประกาศปรับเกณฑ์คุณสมบัติใหม่ให้กับลูกค้าที่มีสถานะเป็นหนี้เสีย (NPL) บัตรเครดิต บัตรกดเงินสดและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน ค้างชำระเกินกว่า 120 วัน (ตามรายงานเครดิตบูโร ณ เดือนปัจจุบันมีสถานะค้างชำระตั้งแต่ 121-150 วัน ขึ้นไป) สามารถเข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้ได้เลย โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา จากเดิมต้องมีสถานะเป็นหนี้เสียก่อนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 เท่านั้น ทำให้ยอดจำนวนผู้สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการฯ ในเดือนพฤษภาคม เพิ่มขึ้นสูงถึง 17,600 ราย หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 288 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าเมื่อถึงสิ้นปี 2566 จะมีจำนวนผู้สมัครเข้าร่วมโครงการฯเพิ่มขึ้นถึง 155,000 บัญชี”นายธรัฐพร กล่าว
นายณัฐสรรค์ ตันตสุรฤกษ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ Credit Operation ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการคลินิกแก้หนี้เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่ช่วยให้สถาบันการเงินสามารถบริหารและจัดการหนี้เสียในระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งที่ผ่านมาทางธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ได้ช่วยประชาสัมพันธ์โครงการคลินิกแก้หนี้ให้กับลูกค้าของธนาคารที่ประสบปัญหาทางด้านการเงิน โดยปัจจุบันลูกค้าของธนาคารที่อยู่ในคลินิกแก้หนี้ มีประมาณ 14,000 บัญชี หรือราว 1,100 ล้านบาท และยังมีลูกค้าอีกจำนวนหนึ่งที่ธนาคารไม่สามารถติดต่อได้ ทางธนาคารมั่นใจว่าทุกปัญหามีทางออก และเมื่อมีโอกาสได้พูดคุยกัน จะสามารถร่วมกันหาทางออกในการแก้ไขหนี้ที่ค้างชำระได้
นายธรัฐพร กล่าวเพิ่มเติมว่า ความร่วมมือครั้งนี้ ต้องขอบคุณ ธปท. ที่เป็นจุดเริ่มต้นของโครงการดีๆ ขอบคุณภาคีเครือข่าย ขอบคุณสถาบันการเงินทุกแห่งที่ให้ความร่วมมือ ขอบคุณแทนประชาชนที่กำลังเดือดร้อน ความร่วมมือของทุกภาคส่วนในวันนี้ ทำให้ “โครงการคลินิกแก้หนี้ by SAM” เป็นหนึ่งในมาตรการต่อพลังชีวิตประชาชนรายย่อยที่เป็นหนึ่งในกำลังสำคัญของภาคเศรษฐกิจ เมื่อเศรษฐกิจภาคครัวเรือนแข็งแรงขึ้น ก็ย่อมส่งผลต่อการพลิกฟื้นเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศให้ยั่งยืน
สำหรับคุณสมบัติผู้สนใจสมัครเข้าร่วม “โครงการคลินิกแก้หนี้ by SAM” นั้น ต้องเป็นบุคคลธรรมดาที่มีรายได้ มีอายุไม่เกิน 70 ปี มียอดหนี้รวมกันไม่เกิน 2 ล้านบาท และเป็นหนี้เสียค้างชำระมากกว่า 120 วัน และเพื่อความรวดเร็วในการพิจารณาผลการสมัคร ขอให้ลูกค้าเตรียมเอกสารสำคัญประกอบการสมัคร ดังนี้ 1. เอกสารรายงานเครดิตบูโร 2. สำเนาบัตรประชาชน 3. สลิปเงินเดือนย้อนหลัง 1 เดือน หรือหนังสือรับรองเงินเดือน (กรณีผู้มีรายได้ประจำ) / รายการเดินบัญชี (Statement) อย่างน้อย 3 เดือน หรือหนังสือรับรองรายได้ (กรณีอาชีพอิสระ) โดยลูกค้าที่เป็นหนี้เสียรายใหม่และมีคุณสมบัติผ่านหลักเกณฑ์เข้าร่วม “โครงการคลินิกแก้หนี้ by SAM”จะได้รับอัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษเพียง 3-5% และระยะเวลาผ่อนนานสูงสุด 10 ปี โดยเสนอทางเลือกการปรับโครงสร้างหนี้ เป็น 3 ทางเลือก คือ 1. ผ่อนชำระไม่เกิน 4 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี 2. ผ่อนชำระนานกว่า 4 ปี ไม่เกิน 7 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี 3. ผ่อนชำระนานกว่า 7 ปี ไม่เกิน 10 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี