อนันดาฯทวงถามความรับผิดชอบ 8 หน่วยงานรัฐหลัง “ศาลปกครองสูงสุด”มีคำสั่งถอนใบอญาตก่อสร้างคอนโดฯแอซตัน อโศก เหตุใบอนุญาตไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่งผลให้ลูกบ้าน 580 ครอบครัวได้รับความเดือดร้อน เตรียมยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯกทม.และผู้ว่าฯรฟม.ภายใน 14 วันนับตั้งแต่วันนี้ เพื่อร่วมหาทางออกให้กับลูกบ้านและบริษัท
วันนี้(27 กรกฎาคม 2566) ศาลปกครองสูงสุด มีคําพิพากษายืนตามคําพิพากษาศาลปกครองกลาง วินิจฉัยว่าที่ดินของ รฟม.ไม่อาจนํามาให้บริษัทอนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จํากัดหรือเอกชนใช้ในการทําโครงการได้ จึงทําให้หน่วยงานของรัฐไม่อาจออกใบอนุญาตในการก่อสร้างโครงการแอซตัน อโศกได้ มีผลให้ใบอนุญาตไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามคดีที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนกับพวก (ผู้ฟ้องคดี) ได้ยื่นฟ้องผู้อํานวยการเขตวัฒนา ที่1 , ผู้อํานวยการสํานักการโยธา ที่ 2 , ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ 3 , ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ที่ 4 , คณะกรรมการผู้ชํานาญการ พิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านอาคาร การจัดสรรที่ดิน และบริการชุมชน ที่ 5 (ผู้ถูกฟ้องคดี) และบริษัทอนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จํากัด “บริษัทฯ” ซึ่งไม่ใช่ผู้ถูกฟ้องคดีโดยตรง แต่ถูกเรียกเข้ามาในฐานะเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากผลแห่งคดี ในฐานะผู้ร้องสอด ในคดีหมายเลขดําที่ อส 67/2564 หมายเลขแดงที่ อส.188/2566
ทั้งนี้บริษัทอนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จํากัด ได้ออกหนังสือชี้แจงไปยังลูกบ้านแอซตัน อโศกว่าว่า บริษัทน้อมรับและเห็นว่า ศาลปกครองซึ่งมีหน้าที่พิจารณาคดีพิพาท ระหว่างหน่วยงานของรัฐ และหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ กับ เอกชน เพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน รวมทั้งเพื่อวางแนว หรือสร้างบรรทัดฐานในการปฏิบัติราชการให้ถูกต้องชอบธรรม
อีกทั้งภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับ รวมถึงฉบับปัจจุบันพุทธศักราช 2560 ในส่วนบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ของรัฐ ในกรณีที่รัฐจะอนุมัติ หรืออนุญาตให้ผู้ใดทําการได้ ก็จะต้องดําเนินการไปตามกฎหมายโดยรัฐมีหน้าที่โดยตรงที่จะต้องใช้อํานาจและทําหน้าที่ด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง ไม่ประมาทเลินเล่อ หรือไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายกับประชาชน หรือผู้ประกอบการ ยิ่งไปกว่านั้น หากมีการกระทําที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังเกิดขึ้นเป็นคดีนี้แล้ว หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบและทําการเยียวยาในความเดือดร้อนเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรม และโดยไม่ชักช้า
นายชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานอำนวยการ บริษัทอนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทยอมรับคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่ยืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลางระบุว่าหน่วยงานของรัฐไม่อาจออกใบอนุญาตในการก่อสร้างโครงการแอซตัน อโศกได้ มีผลให้ใบอนุญาตไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งที่ผ่านมาบริษัทได้ดำเนินการขออนุญาตอย่างถูกต้องจากหน่วยงานของภาครัฐในการก่อสร้างและพัฒนาโครงการแอสตัน อโศก และได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานต่างๆเป็นที่เรียบร้อย
ดังนั้นคำสั่งของศาลปกครองสุงสุดได้ส่งผลกระทบโดยตรงทั้งบริษัท ลูกบ้านโครงการแอซตัน อโศก รวมถึงผู้ถือหุ้น และนักลงทุน จึงอยากเรียกร้องให้หน่วยงานของภาครัฐในฐานะที่เป็นผู้ออกใบอนุญาตให้ก่อสร้างโครงการและรฟม.ในฐานะเจ้าของที่ดินที่เป็นเจ้าของทางเข้า-ออกโครงการร่วมหาทางออกให้กับบริษัทและลูกบ้าน โดยทางคณะผู้บริหารบริษัทและลูกค้า จะทำหนังสือเพื่อขอเข้าพบผู้ว่าราชการกทม.และผู้ว่าการ รฟม.ภายใน 14 วันนับตั้งแต่วันนี้
นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บริษัทอนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันโครงการแอซตัน อโศก มีลูกบ้านรับโอนห้องชุดและเข้าอยู่อาศัยในโครงการแล้ว 580 ครอบครัว คิดเป็นจำนวน 668 ยูนิต ทั้งลูกค้าชาวไทยและต่างชาติที่มีอยู่จำนวน 142 ราย จาก 20 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งมีลูกบ้านที่เข้าอยู่อาศัยมานานกว่า 4 ปีจำนวน 488 ครอบครัว คิดเป็น 84% ของจำนวน 580 ครอบครัว โดยทั้งหมดมีโฉนดห้องชุดถูกต้องตามกฎหมาย
ดังนั้นการพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่มองว่า รฟม.ไม่สามารถนำที่ดินที่ได้รับการเวนคืนมาให้เอกชนำไปใช้ประโยชน์ได้ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อกลุ่มลูกบ้านทั้ง 580 ครอบครัวที่จ่ายเงินซื้อโครงการนี้ด้วยความถูกต้องและสุจริต แต่มีเงื่อนปมทางกฎหมายที่ทำให้โครงการดังกล่าวเกิดปัญหาขึ้นในตอนนี้ โดยศาลปกครองสูงสุดได้มองประเด็นด้านกฎหมายเฉพาะจุดที่เป็นเรื่องของทางเข้า-ออกโครงการ ที่เป็นที่ดินมาจากการเวนคืนของรฟม.ไม่สามารถนำมาให้เอกชนพัฒนาได้
ขณะที่บริษัทก็ได้ดำเนินการขอนุญาตถูกต้องจาก 8 หน่วยงาน รวมทั้งขอใบอนุญาตถึง 9 ฉบับ และขอความเห็นชอบก่อนดำเนินการก่อสร้างไม่น้อยกว่า 7 หน่วยงาน รวมทั้งผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการถึง 3 คณะกรรมการ และจ่ายเงินค่าผ่านทางเข้า-ออกให้กับรฟม.ไปแล้ว เกือบ 100 ล้านบาท
ทั้งนี้บริษัทจะเร่งรีบดําเนินการ ในการเรียกร้องค่าเสียหายกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อเยียวยาความเสียหายแก่เจ้าของร่วมอาคารชุดและบริษัทโดยเร็ว รวมทั้งจะดําเนินการประสานงานคณะกรรมการนิติบุคคลแอชตัน อโศก และท่านเจ้าของร่วม เพื่อขอเข้าพบผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เพื่อทวงถามความรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นภายใน 14 วันนับแต่วันนี้ และหากไม่ได้รีบความช่วยเหลือใดๆ บรษัทก็จะเตรียมข้อมูลเพื่อฟ้องร้องหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องต่อไป
เนื่องจากผลแห่งคําพิพากษาที่เกิดขึ้นดังกล่าว หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อเจ้าของร่วมอาคารชุดและบริษัท เพราะหากหน่วยงานราชการผู้มีอํานาจหน้าที่ไม่เห็นชอบและอนุมัติ โครงการนี้จะก็ไม่สามารถก่อสร้างได้ตั้งแต่แรก และจะไม่เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงอย่างที่เป็นอยู่