5 แบงก์พาณิชย์นำร่องปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ 0.25%

You are currently viewing 5 แบงก์พาณิชย์นำร่องปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ 0.25%

อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในช่วงขาขึ้นและน่าจะยังยืนระดับสูงต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปีนี้  ขณะที่ภาวะหนี้ครัวเรือนก็ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้คาดการณ์กันว่ายอดโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลปี 2566 นี้น่าจะหดตัวลง เพราะกำลังซื้อชะลอตัวลงจากภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น

ล่าสุดสถาบันการเงินเริ่มทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากอีกรอบแล้ว หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบาย (กนง.)เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2566 ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25%จากเดิม 2.25%เพิ่มเป็น 2.50%โดยให้มีผลทันที และปรับประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือ GDP ในปี 2566 มาอยู่ที่ 2.8% จากเดิมอยู่ในระดับ 3.6% และปรับเพิ่ม GDP ในปี 2567 เพิ่มเป็น 4.4% จากเดิมที่ 3.8%

โดยมี 5 ธนาคารพาณิชย์ได้นำรองปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มอีก 0.25% หลังจากมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยธนาคารกรุงเทพ ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย MLR จากเดิม 6.85%เพิ่มเป็น 7.10% และอัตราดอกเบี้ย MRR จากเดิม 7.05% เพิ่มเป็น 7.30%

ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ 0.25%เช่นเดียวกัน โดยอัตราดอกเบี้ย MLR ขยับขึ้นจากเดิม 6.80% เป็น 7.05% และอัตราดอกเบี้ย MRR จากเดิม 7.05%เพิ่มเป็น 7.30% ขณะที่ธนาคารกสิกรไทยได้ปรับขึ้นดอกเบี้ย MLR จากเดิม 7.02% เป็น 7.27%และปรับขึ้นดอกเบี้ย MRR จากเดิม 7.05% เป็น 7.30%

ธนาคารยูโอบี ได้ปรับดอกเบี้ยเงินกู้ MLR เพิ่มเป็น 8.25%จากเดิม 8.00% และดอกเบี้ย MRR จากเดิม 8.55% เพิ่มเป็น 8.80% และธนาคารทหารไทยธนชาต ปรับขึ้นดอกเบี้ย MLR จาก7.475% เป็น 7.725% และดอกเบี้่ย MRR จากเดิม 7.58%เพิ่มเป็น 7.83%

ด้านธนาคารอาคารสงเคราะห์หรือ ธอส.ได้ประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไปจนถึงสิ้นปีนี้เพื่อลดภาระรายจ่ายของผู้กู้  โดยนายกฤษณ์ เสสะเวช กรรมการธนาคาร และรักษาการกรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ภายหลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 27 กันยายนที่ผานมา  มีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี หรือจาก 2.25% ต่อปี เป็น 2.50% ต่อปี ธอส. ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ พร้อมตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไว้ในระดับปัจจุบันต่อไปจนถึงสิ้นปี 2566 เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการชำระเงินงวดตามนโยบายของรัฐบาลให้กับลูกค้าเงินกู้ในปัจจุบันของธนาคารที่มีจำนวน 1.79 ล้านบัญชี คิดเป็นวงเงินสินเชื่อคงค้างมากกว่า 1.66 ล้านล้านบาท และเพื่อให้ลูกค้าได้มีเวลาในการปรับตัวรับกับภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น