กระทรวงคมนาคมจุดพลุนโยบาย Quick Win เปิดให้บริการค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ประเดิม 2 เส้นทาง “สายสีม่วง-สายสีแดง” เริ่มแล้ววันนี้ เพื่อช่วยลดค่าครองชีพให้ประชาชน ในระยะแรกหากข้ามระบบยังคงต้องชำระอัตราค่าโดยสารของแต่ละสายก่อน
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การประชุมประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ (16 ต.ค. 2566) โดยมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ ที่ประชุมฯมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอปรับลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุดไม่เกิน 20 บาท (นโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย) หรือปรับลดจากอัตราค่าโดยสารปัจจุบัน เริ่มต้น 14 บาท สูงสุดไม่เกิน 42 บาท เหลืออัตราค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 20 บาทเฉพาะของแต่ละสาย ซึ่งจะเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
จากเดิมเคยประกาศไว้ว่าจะเริ่มใช้นโยบายในช่วงปลายปี 2566 แต่ด้วยภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้นจากสถานการณ์ความวุ่นวายในต่างประเทศที่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันมีผลโดยตรงต่อผู้ใช้รถยนต์ ดังนั้นกระทรวงคมนาคมจึงได้เร่งรัดดำเนินการให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว และเริ่มประกาศใช้ในวันนี้ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผู้โดยสาร
โดยจะนำร่อง 2 โครงการ คือ โครงการรถไฟฟ้ามหานคร (MRT) สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ ระยะทาง 23 กิโลเมตร (กม.) จำนวน 16 สถานี และโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต (สายธานีรัถยา) ระยะทาง 26 กม. จำนวน 10 สถานี และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน (สายนครวิถี) ระยะทาง 15 กม. จำนวน 4 สถานี
ในส่วนของการเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง กับรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงนั้น กำหนดอัตราค่าโดยสารของทั้ง 2 สาย สูงสุดไม่เกิน 20 บาท โดยจะต้องเปลี่ยนถ่ายระบบที่สถานีบางซ่อน ภายในระยะเวลา 30 นาที และในเบื้องต้นจะต้องใช้บัตรโดยสารใบเดียวกัน หรือบัตร EMV Contactless เท่านั้น
โดยในระยะแรกหากข้ามระบบยังคงต้องชำระอัตราค่าโดยสารของแต่ละสายก่อน เนื่องจากในขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงระบบหรือซอฟต์แวร์ คาดว่าจะเปิดให้บริการเชื่อมต่อรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วงกับรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงในอัตราสูงสุดไม่เกิน 20 บาทตลอดสายภายในเดือนพฤศจิกายน2566 นี้
ส่วนเส้นทางรถไฟฟ้าสายอื่นๆ นั้น หลังจากนี้กระทรวงคมนาคมจะแต่งตั้งคณะกรรมการเจรจาร่วมกับภาคเอกชน เพื่อดำเนินการนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายให้ครอบคลุมโครงข่ายในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลในทุกเส้นทาง ตามเป้าหมายภายใน 2 ปีนับจากนี้ โดยได้สั่งการให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เตรียมความพร้อมทั้งในส่วนของสิ่งอำนวยความสะดวกบนสถานี อาทิ ลิฟท์ บันไดเลื่อน ให้มีความปลอดภัย
นอกจากนี้ได้มอบหมายให้ติดตั้งป้ายแนะนำการใช้บริการ รวมถึงจัดเตรียมเจ้าหน้าที่คอยดูแลความสะดวกในการเดินทาง และประชาสัมพันธ์ ให้คำแนะนำประชาชนที่มาใช้บริการ พร้อมทั้งให้ประเมิน และเก็บข้อมูลผลการดำเนินงานการเปิดใช้นโยบาย เพื่อวิเคราะห์ถึงปัญหาและอุปสรรค ก่อนนำไปปรับปรุงการให้บริการ โดยให้รายงานผลมายังกระทรวงคมนาคมทุกเดือน