เสนาฯผนึก ฮันคิว-พานาโซนิค และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงนามความร่วมมือสนับสนุนการนำนวัตกรรม “สภาวะน่าสบาย” เข้าทดลองภายในบ้านที่พักอาศัยจริงเป็นครั้งแรก ที่โครงการ “เสนา แกรนด์ โฮม บางนา กม.29”สอดคล้องการพัฒนาแนวคิด“บ้านพลังงานเป็นศูนย์”เสริมการใช้ชีวิตแบบรักษ์โลก ด้านจุฬาฯระบุ ระยะเวลาเซ็น MOU ครอบคลุม 3 ปี ผลวิจัย 2 ปี พบสามารถทำอุณหภูมิได้ถึง 24-26 องศา และความแตกต่างระหว่างอุณหภูมิ 24 และ 26 องศา สามารถลดค่าไฟได้ถึง 20% ถือว่าเป็นระดับที่น่าพอใจ อนาคตเล็งขยายงานวิจัยไปกลุ่มอาคารชุด
ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SENA เปิดเผยว่า ในวันที่ 31 ตุลาคม 2566 เสนาฯและ บริษัท ฮันคิว ฮันชิน พร็อพเพอร์ตี้ส์ คอร์ป ได้ลงนามความร่วมมือในการสนับสนุนบ้านโครงการ “เสนา แกรนด์ โฮม บางนา กม.29”สำหรับงานวิจัยนวัตกรรม “สภาวะน่าสบาย” ที่เป็นความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาโดยพานาโซนิค และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อสนับสนุนแนวคิดการสร้างบ้านประหยัดพลังงาน และส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของผู้พักอาศัย รวมถึงต่อยอดและเพิ่มประสิทธิภาพของแนวคิดบ้านพลังงานเป็นศูนย์ซึ่งเป็นแนวทางหลักในการพัฒนาโครงการบ้านของเสนาฯ
ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้ เสนาฯ ให้ความสำคัญกับการสร้าง และส่งมอบที่พักอาศัยให้กับลูกบ้าน ด้วยดีเอ็นเอ Made From Her ที่พัฒนาด้วยความละเอียดใส่ใจ สู่แนวคิด “เคียงข้าง… สร้างสรรค์ชีวิตยั่งยืน” โดยทีมงานไม่เคยที่จะหยุดคิด ค้นหานวัตกรรม และพัฒนาโครงการอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างบ้านที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตที่สะดวกสบาย และยังต้องอยู่อาศัยได้อย่างยั่งยืนควบคู่กันไปด้วย เกิดประโยชน์ต่อทั้งตัวเจ้าของบ้านเอง และส่งผลเสียต่อสภาพแวดล้อมให้น้อยที่สุด ดังจะเห็นได้จากการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ซี่งเสนาฯ เป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เจ้าแรกที่ติดตั้งโซลาร์ให้กับบ้านในโครงการทุกหลัง
จากการไม่หยุดคิด และไม่หยุดพัฒนานี้ เสนาดีเวลลอปเม้นท์ฯจึงได้ร่วมทุนกับ บริษัท ฮันคิว ฮันชิน พร็อพเพอร์ตี้ส์ คอร์ป ซึ่งมีแนวคิดในการพัฒนาบ้านในทิศทางเดียวกัน เพื่อร่วมกันพัฒนาบ้านเพื่อการพักอาศัยที่ยั่งยืน โดยได้เริ่มต้นนำคอนเซปต์บ้าน Zero Energy House ของ ฮันคิว ฮันชินที่ได้รับการยอมรับในประเทศญี่ปุ่นมาต่อยอด และพัฒนาเป็นต้นแบบ “แนวคิดบ้านพลังงานเป็นศูนย์” ในแบบที่เหมาะกับคนไทย เพื่อให้ลูกบ้านมีบ้านที่อยู่ได้อย่างสะดวกสบาย ช่วยประหยัดเงิน ประหยัดพลังงาน และยังรักษ์โลกไปได้ด้วยพร้อมๆ กัน
“ล่าสุดทางเรา คือ เสนาฯ และฮันคิว ฮันชิน ได้รับทราบถึงการทดลองนวัตกรรมเพื่อการอยู่อาศัย สภาวะน่าสบาย ที่ได้ริเริ่มทำการวิจัยโดยพานาโซนิค ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้เกิดความสนใจ เนื่องจากมีแนวคิดในการพัฒนาการอยู่อาศัยเป็นไปในทิศทางเดียวกัน จึงได้เกิดความร่วมมือในการสนับสนุนการทดลองนี้ จากการวิจัยในแบบบ้านจำลอง ให้มาทดลองในบ้านจริงของเรา เพื่อให้ได้ผลการวิจัยที่ตรงกับการใช้ชีวิตจริงมากที่สุด และสามารถนำไปต่อยอดนวัตกรรม หรือพัฒนาเป็นเทคโนลียีเพื่อการอยู่อาศัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทางเสนาฯ และฮันคิว ฮันชินเอง ต้องขอบคุณทางพานาโซนิค และจุฬาลงกรณ์ที่เล็งเห็นถึงความตั้งใจและแนวทางของบริษัทฯ ที่ต้องการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้ลูกค้าอย่างยั่งยืน ทำให้ได้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนานวัตกรรมดีๆ แบบนี้ และอาจมีโอกาสในการต่อยอดสู่ความร่วมมือด้านอื่นๆ ต่อไปในอนาคต” ผศ.ดร.เกษรา กล่าว
ผศ.ดร.เกษรา กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการ “เสนา แกรนด์ โฮม บางนา กม.29”ซึ่งเป็นโครงการมิกซ์โปรเจกต์ ประกอบด้วยบ้านเดี่ยว ราคา 7-10 ล้านบาท บ้านแฝด ราคา 5-7 ล้านบาท แบะคอนโดมิเนียม โดยบ้านหรูในโครงการเป็นโครงการใหม่ ที่เน้นบ้านพลังงานเป็นศูนย์(Zero Energy House-ZEH) จากเดิมที่เน้นในเรื่องการติดตั้งโซลาร์เซลล์ ในบ้านทั้งหมด ทั้งนี้มองว่าบ้านราคาแพงจะดำเนินการได้ง่ายที่สุด แต่ความต้องการมากที่สุดคือบ้านราคาถูก ซึ่งก็อยากให้มีการวิจัยออกมาทำได้ในทุกเซกเมนต์
“สิ่งที่เสนาฯได้ดำเนินการเรื่อง บ้านเสนาติดโซลาร์ทุกหลัง จะเป็นผลดีต่อกับลูกค้าในเรื่องของต้นทุนการขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน ที่จะช่วยประหยัดค่าดอกเบี้ยได้ถูกลงมาอยู่ระดับ 3% จากเดิมหากต้องขอสินเชื่อรายย่อยเพื่อติดตั้งโซล่าร์ต่างหาก อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ระดับ 7-8% เป็นต้น สำหรับเรื่องของ Cost ของบ้านจริงๆแล้ว มีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น อัตราดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นร้อยละ 1 จะมีผลต่อราคาบ้านประมาณร้อยละ 9 ค่าแรงที่มีแนวโน้มจะปรับขึ้น และเรื่องค่าก่อสร้างที่ตอนนี้ปรับขึ้นไปแล้วร้อยละ 10 (YoY) แต่เรื่องความร่วมมือในการนำนวัตกรรม สภาวะน่าสบาย การต้องมองข้ามเรื่องต้นทุนไปก่อน แต่สุดท้ายแล้ว ทั้ง 3 พันธมิตรที่ร่วมมือในครั้งนี้ มีแนวคิดตรงกันในเรื่องพัฒนาบ้านพลังงานเป็นศูนย์”ผศ.ดร.เกษรา กล่าวในที่สุด
นายมิสึฮิโระ นากาซาว่า ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ฮันคิว ฮันชิน พร็อพเพอร์ตี้ส์ คอร์ป จำกัด ในฐานะพาร์ทเนอร์ของ เสนาดีเวลลอปเม้นท์ฯกล่าวว่า ทุกวันนี้ฮันคิว ฮันชิน อยู่ภายใต้สถานการณ์ที่ต้องพิจารณามาตรการป้องกันภาวะโลกร้อนอย่างจริงจัง ฮันคิว ฮันชิน ในฐานะหนึ่งในนักพัฒนา เราตระหนักอย่างยิ่งถึงความจำเป็นในการเผชิญกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมในการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยฮันคิว ฮันชิน ในประเทศญี่ปุ่นได้ ได้เร่งดำเนินการติดตั้งบ้านพลังงานเป็นศูนย์ (Zero Energy House – ZEH) สำหรับที่พักอาศัยและยังคงเร่งดำเนินมาตรการเชิงรุกเพื่อรับมือกับลดภาวะโลกร้อนอย่างเต็มที่
“เราเชื่อว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดของที่อยู่อาศัยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คือการพัฒนาที่อยู่อาศัยบนพื้นฐานของความเข้าใจ ดูแล และสร้างความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิตของลูกค้าอย่างดีที่สุด ซึ่งการศึกษา ‘สภาวะน่าสบาย’ผ่านบ้านแบบจำลองโดยพานาโซนิค และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะศึกษาเพื่อค้นหาโซลูชั่นและนวัตกรรมใหม่ๆที่ให้ความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิตของผู้พักอาศัย รวมถึงเพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพของวิศวกรรมระบบ สอดคล้องกับแนวคิดในการพัฒนาที่พักอาศัยของเราเช่นกัน โดยคาดหวังว่าการร่วมมือในการสนับสนุนงานวิจัยในครั้งนี้ จะสามารถตอบโจทย์ได้ทั้งในด้านประหยัดพลังงาน และความสะดวกสบายเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้อยู่อาศัย”นายมิสึฮิโระ กล่าว
มร.ฮิเดคาสึ อิโตะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พานาโซนิค โซลูชั่นส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 60 ปี ที่พานาโซนิคได้เข้ามามีส่วนร่วมในประเทศไทย ในฐานะผู้ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า บริษัทฯมีความมุ่งมั่นที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ดี มีคุณภาพ และสร้างความเป็นอยู่ทีดีต่อผู้บริโภคเสมอมา ในขณะเดียวกัน เรายังได้มีการค้นคว้าวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ในหลากหลายพื้นที่ทั่วโลก โดยมุ่งเน้นเพื่อสร้างสังคมที่ยั่งยืน อันเป็นที่มาในการวิจัยร่วมกับสถาบันการศึกษาอย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่อยู่อาศัยที่ยั่งยืนและประหยัดพลังงานในประเทศไทย (Sustainable and Energy-Efficient Housing Technologies in Thailand) รวมไปถึง การค้นคว้าเทคโนโลยีที่ตอบสนองความต้องการใหม่ๆ อย่าง “สภาวะน่าสบายภายในบ้าน” สำหรับคนไทยโดยเฉพาะ โดยได้เริ่มการวิจัย ผ่านการทดลองภายในแบบบ้านจำลอง ZEN Model ที่ตั้งอยู่บริเวณหน้าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อค้นคว้าระบบปรับอากาศที่ประหยัดพลังงานและสร้างสภาวะน่าสบายภายในบ้าน และเพื่อขยายผลการทดลองในบ้านจำลอง จึงนำมาสู่การทำการค้นคว้าและวิจัยร่วมกันระหว่างสี่องค์กรในครั้งนี้โดย เสนาดีเวลลอปเม้นท์ ได้สนับสนุนบ้านจริงเพื่อการอยู่อาศัยในการทดลองประสิทธิภาพการทำงานของระบบโดยหวังผลให้ระบบนี้เป็นหนึ่งในแนวทางการอยู่อาศัยที่ยั่งยืนสำหรับคนไทย ภายใต้ภาวะน่าสบาย (Comfort Zone) ปราศจากความเครียด (Stress-free) ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะ (Carbon-free) และลดการใช้พลังงาน (Energy Efficiency) เกิดเป็นเทคโนโลยีที่อยู่อาศัยในอนาคตที่เหมาะกับบริบทของประเทศไทยต่อไป
ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สรายุทธ ทรัพย์สุข คณบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความร่วมมือในการจัดทำการวิจัยกับพานาโซนิคในประเทศไทยครั้งนี้ ได้นำความเชี่ยวชาญของจุฬาฯ ทั้งจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มาผนวกกับความรู้ความชำนาญทางเทคโนโลยีของพานาโซนิค ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนการวิจัยไปข้างหน้าและมีส่วนช่วยในการพัฒนาโซลูชั่นและนวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรมที่อยู่อาศัยในประเทศไทยในอนาคตได้ โดยปัจจุบันความร่วมมือนี้ได้ถูกพัฒนาเป็นโมเดลที่อยู่อาศัยแบบจำลอง โดยการนำเทคโนโลยี Building Information Modelling (BIM)และ Digital Twin เข้ามาช่วยในการออกแบบและก่อสร้างบ้านโมดูลาร์ในชื่อ ZEN Model ขนาดพื้นที่ 36 ตารางเมตร ภายในพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจำลองบรรยากาศที่อยู่อาศัยในสภาวะน่าสบาย และร่วมทำการเก็บข้อมูลจากการให้กลุ่มตัวอย่างได้เข้ามาทดลองใช้ชีวิตในพื้นที่บ้านทดลอง ซึ่งจะขยายผลสู่การทดลองกับบ้านเดี่ยวในโครงการของเสนาดีเวลลอปเม้นท์ เพื่อให้ได้ผลที่ใกล้เคียงจริงยิ่งขึ้น และสามารถนำไปต่อยอดการยกระดับมาตรฐานการอยู่อาศัยของผู้คนทุกระดับในเขตร้อนชื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีข้อมูลทางวิชาการรองรับ
ทั้งนี้งานวิจัยนี้ทางจุฬาฯร่วมวิจัยกับพานาโซนิคดำเนินการมาได้ 2 ปีแล้ว แต่เริ่มนำแบบบ้านมาโชว์ได้แล้วประมาณ 1 ปี ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการทดลองอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ระบบมีความฉลาดขึ้น โดยที่ที่ผ่านมาได้ทดลองดำเนินการไปแล้วประมาณ 50 ตัวอย่าง เพื่อทดลองว่าในอุณหภูมิที่คนไทยคิดว่า “มีความสบาย” จากอุณหภูมิ 24-25 องศา และจากผลการวิจัยพบว่าสามารถทำอุณหภูมิได้ถึง 25-26 องศา พร้อมกับบางเงื่อนไข ซึ่งพบว่าความแตกต่างระหว่างอุณหภูมิ 24 และ 26 องศา สามารถลดค่าไฟได้ถึง 20% ถือว่าเป็นระดับที่น่าพอใจ แต่ทั้งนี้ยังต้องมีการทดลองวิจัยในเรื่องของพฤติกรรมการอยู่อาศัย ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น และการที่เสนาฯ สนับสนุนในการให้ทดสอบบ้านในโครงการ “เสนา แกรนด์ โฮม บางนา กม.29” ซึ่งการที่เลือกโครงการดังกล่าวเพราะเป็นโครงการที่ร่วมทุนกับกลุ่มฮันคิวฯ และเป็นโครงการแรกที่มีแนวคิดด้านพลังงานเป็นศูนย์ ก็จะทำให้งานวิจัยสภาพแวดล้อมสมจริงมากขึ้น เบื้องต้นได้ทำการวิจัยบ้านเดี่ยว และอนาคตคงจะขยายไปวิจัยกับที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุดด้วย
“ในเบื้องต้นได้มีการเซ็น MOU กับทางเสนาฯ,ฮันคิว และพานาโซนิคไว้ 3 ปี ซึ่งจะทำให้พื้นที่ของบ้านที่ทำการวิจัยขยับจาก 12 และ 36 ตารางเมตร ที่ได้ทำการวิจัยเมื่อปีที่ผ่านมา เป็นขนาด 150 ตารางเมตร เนื่องจากเป็นงานวิจัยที่ต้องใช้ข้อมูลค่อนข้างมาก และการที่เลือกวิจัยกับโครงการของเสนาฯ เพราะเห็นว่ามีแนวความคิดในเรื่องบ้านพลังงานเป็นศูนย์อยู่แล้ว ซึ่งเข้ากับทิศทางการดำเนินงานของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย“ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สรายุทธ กล่าวในที่สุด