ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ รายงานผลสำรวจโครงการที่อยู่อาศัยปี 2566 ในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑลมีจำนวนที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่เข้าสู่ตลาดลดลง -11.9% ขายได้ใหม่ลดลง -22.5% ที่อยู่อาศัยเหลือขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.7 เมื่อเทียบกับปี 2565 ขณะที่ปี 2567 REIC คาดการณ์จะมีที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่เข้ามาในตลาด103,019 ยูนิต เพิ่มขึ้น 7% และมีโครงการที่อยู่อาศัยเหลือขาย232,216 ยูนิต เพิ่มขึ้น 10.6% เมื่อเทียบกับปี 2566
ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า ภาพรวมทั้งปี 2566 ของตลาดที่อยู่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล จากการสำรวจของ REIC พบว่า มีจำนวนที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่เข้าสู่ตลาดทั้งสิ้น 96,278 ยูนิต ลดลง-11.9% ประกอบด้วย โครงการบ้านจัดสรร 48,923 ยูนิต โครงการอาคารชุด 47,355 ยูนิต ขณะที่จำนวนที่อยู่อาศัยขายได้ใหม่อยู่ที่ 73,703 ยูนิต ลดลง- 22.5% ประกอบด้วย โครงการบ้านจัดสรร 43,229 ยูนิต โครงการอาคารชุด 30,474 ยูนิต
ส่งผลให้มีที่อยู่อาศัยเหลือขายจำนวนมากถึง 209,894 ยูนิต เพิ่มขึ้น 13.7% ประกอบด้วย บ้านจัดสรร 126,247 ยูนิต และอาคารชุด 83,647 ยูนิต โดยอัตราดูดซับลดลงจากร้อยละ 3.8 ในปี 2565 เป็นร้อยละ 2.7 ในปี 2566
ส่วนทิศทางของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่กรุงทพ-ปริมณฑลปี 2567 REIC คาดการณ์ว่าหากปัจจัยทางเศรษฐกิจสามารถบรรลุตามเป้าหมาย จะส่งผลให้ มีโอกาสที่จะปรับตัวขึ้นไปใกล้สถานการณ์ในปี 2565 มากขึ้น ซึ่งเป็นปีที่ดีที่สุดหลังจากเกิดสถานการณ์โควิด-19 โดยคาดว่าที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่จะเข้ามาในตลาดจำนวนทั้งสิ้น 103,019 ยูนิต เพิ่มขึ้น 7% มูลค่ารวม 651,377 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการบ้านจัดสรร 50,882 ยูนิต มูลค่า 425,415 ล้านบาท โครงการอาคารชุด จำนวน 52,137 ยูนิต มูลค่า 225,965 ล้านบาท
ส่วนจำนวนที่อยู่อาศัยขายได้ใหม่ประมาณ 91,869 ยูนิต เพิ่มขึ้น 24.6% มูลค่า 486,084 ล้านบาท ประกอบด้วย บ้านจัดสรรจำนวน 52,647 ยูนิต มูลค่ารวม 333,868 ล้านบาท และอาคารชุดจำนวน 39,222 ยูนิต มูลค่า 152,216 ล้านบาท ซึ่งจะเห็นว่ายอดขายของอาคารชุดอาจจะต่ำกว่ายอดเปิดตัวใหม่ อาจส่งผลให้ภาพรวมโครงการที่อยู่อาศัยเหลือขายจำนวน 232,216 ยูนิต มูลค่า 1,296,376 ล้านบาท เพิ่มขึ้น10.6% เทียบกับปี 2566 ประกอบด้วย โครงการบ้านจัดสรร 135,654 ยูนิต มูลค่า 866,755 ล้านบาท และโครงการอาคารชุด 96,562 ยูนิต มูลค่า 429,621 ล้านบาท
“ทิศทางตลาดที่อยู่อาศัยปี 2567 ในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นเล็กน้อย แต่ยังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน ได้แก่ เศรษฐกิจไทยที่อาจจะชะลอตัวลงจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว การยกเลิกมาตรการผ่อนปรน LTV ค่าครองชีพที่สูงขึ้น และภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังคงมีอัตราส่วนที่สูงกว่า 90% ของ GDP”
ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยและการขอสินเชื่อ ทำให้มีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อได้น้อยลง เนื่องจากสถาบันการเงินมีเกณฑ์ในการพิจารณาสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งคาดว่าอาจส่งผลกระทบต่อยอดการโอนกรรมสิทธิ์ได้ แต่หากมีการออกมาตรการเพิ่มความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัย และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ก็มีโอกาสที่ตลาดจะปรับตัวดีขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้
ไตรมาส 4ปี’66โครงการเปิดตัวใหม่เข้าสู่ตลาด 31,363 ยูนิต มูลค่า 240,006 ล้านบาท
ส่วนผลการสำรวจตลาดที่อยู่อาศัยในไตรมาส 4 ปี 2566 โดยภาพรวม พบว่าการเปลี่ยนแปลงของอุปสงค์และอุปทานไม่สอดคล้องกัน โดยมีอุปทานเพิ่มเข้ามาในตลาดจำนวนถึง 31,363 ยูนิต หรือเพิ่มขึ้น 13% ในขณะที่อุปสงค์หรือยอดขายใหม่ในตลาดมีจำนวน 18,208 ยูนิต ลดลง – 14.5% ส่งผลต่อจำนวนที่อยู่อาศัยเหลือขายทำให้มีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้น 13.7% โดยเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 4 ไตรมาส และมีผลให้อัตราดูดซับโดยเฉลี่ยลดลงอยู่ที่ 2.7%
โดยมีโครงการเปิดตัวใหม่เข้าสู่ตลาดจำนวน 31,363 ยูนิต มูลค่า 240,006 ล้านบาท จำนวนหน่วยเพิ่มขึ้น 13% และมูลค่าเพิ่มขึ้น 49.2% ในจำนวนดังกล่าวเป็นโครงการอาคารชุด 15,593 ยูนิต มูลค่า 95,611 ล้านบาท โดยมูลค่าเพิ่มขึ้นสูงถึง 111.2% และโครงการบ้านจัดสรรจำนวน 15,770 ยูนิต มูลค่า 144,395 ล้านบาท แบ่งเป็นบ้านเดี่ยว 6,917 ยูนิต ทาวน์เฮาส์ 5,510 ยูนิต และบ้านแฝด 3,306 ยูนิต โดยระดับราคาที่มีการเปิดขายใหม่มากที่สุดอยู่ในกลุ่มราคา 2.01 – 3ล้านบาท มีจำนวนมากถึง 6,588 ยูนิต และระดับราคา 3.01 – 5 ล้านบาทจำนวน 6,056 ยูนิต
ขณะที่ด้านอุปสงค์พบว่ายอดขายใหม่ลดลงต่อเนื่อง 4 ไตรมาส โดยในไตรมาส 4 มีจำนวนที่อยู่อาศัยขายได้ใหม่ 18,208 ยูนิต มูลค่า 94,793 ล้านบาท จำนวนหน่วยลดลง -14.5% แบ่งเป็นยอดขายจากโครงการบ้านจัดสรร 11,228 ยูนิต มูลค่า 69,654 ล้านบาท โครงการอาคารชุดจำนวน 6,980 ยูนิต มูลค่า 25,139 ล้านบาท