ศูนย์วิจัยกสิกรฯคาด5ปีแรกรัฐ-เอกชนกระจายงบลงพื้นที่EECไม่ต่ำ1.5ล้านล้านบาท

  • Post author:
You are currently viewing ศูนย์วิจัยกสิกรฯคาด5ปีแรกรัฐ-เอกชนกระจายงบลงพื้นที่EECไม่ต่ำ1.5ล้านล้านบาท

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยเศรษฐกิจไทยเริ่มมีสภาพคล่อง หนี้ครัวเรือนลดลง ภาครัฐสนับสนุนEEC คาด 5 ปีแรก เม็ดเงินลงทุนมูลค่าไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านล้านบาท หวั่นแรงงานสวนกระแสว่างงานเพิ่มขึ้นสูง  6.1 หมื่นคน ขณะที่ผู้ไม่อยู่ในกำลังแรงงานเพิ่มขึ้น 2.9 แสนคน ผลจากสังคมผู้สูงอายุ

 

 

ดร.เชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมาธนาคารกลางสหรัฐหรือ เฟดได้ปรับเพิ่มประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐฯปี 2561 ขึ้นเป็น 2.7% และปี 2562 ขึ้นเป็น 2.4% รวมถึงขยับค่ากลาง (Median)ของประมาณการอัตราดอกเบี้ยในปี 2562 และ 2563 ขึ้นเป็น 2.9% และ 3.4% อย่างไรก็ตามประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2563 และอัตราการขยายตัวในระยะยาวของสหรัฐฯยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งสะท้อนว่าเฟด มองนโยบายการคลังของประธานาธิบดีทรัมป์ว่าจะมีผลกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นเท่านั้น และมีการคาดการณ์ว่าการขาดดุลการคลังของสหรัฐฯจะสูงถึง 1.15 ล้านล้านดอลลาร์ฯในปี 2563 และอาจเพิ่มขึ้นเป็น 2.1 ล้านล้านดอลลาร์ฯในปี 2570

 

 

ในส่วนของประเทศไทยนั้น ในปีนี้ยังเป็นปีที่เงินบาทถูกกดดันจากปัจจัยข้อพิพาททางการค้าของเศษฐกิจโลก แต่ก็ยังมีทิศทางของกระแสเงินทุนต่างชาติ(Fund Flow) ไหลเข้ามาในตลาดทุนไทย โดยที่ผ่านมามี Fund Flow เข้ามาประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ในช่วงต้นปี2561 ที่ผ่านมาเห็นการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย สภาพคล่องของระบบการเงินยังสูง หนี้ครัวเรือนค่อยๆลดลง และโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor:EEC) ยังเป็นโครงการสำคัญที่ผลักดันการลงทุนในประเทศ

 

 

ทั้งนี้จากการที่ภาครัฐให้การสนับสนุนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor:EEC) ซึ่งได้ประเมินงบการลงทุน ของภาครัฐและเอกชนใน 5 ปีแรกว่าจะมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนใน 4 กลุ่ม 15 โครงการ และ 5 โครงการหลัก  โดย 15 โครงการแรกคือ 1.เมืองการบินภาคตะวันออก (สนามบินอู่ตะเภา), 2.รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน,  3.ท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง ระยะ3 , 4.ท่าเรือมาบตาพุด ระยะ3 , 5.ท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ, 6.รถไฟทางคู่เชื่อม 3 ท่าเรือ ,7.ทางหลวง และมอเตอร์เวย์ ,8.อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต(EV/AV), 9.อุตสาหกรรมการบิน,หุ่นยนต์ และอิเล็กทรอนิคส์อัจฉริยะ, 10.อุตสาหกรรมปิโตรเลียม และเคมีชีวภาพชั้นสูง,11.อุตสาหกรรมการแพทย์และการดูแลสุขภาพแบบครบวงจร, 12.การท่องเที่ยวภาคตะวันออก, 13.ศูนย์กลางด้านธุรกิจระดับโลก/เขตการค้าเสรี, 14.เมืองใหม่ ฉะเชิงเทรา พัทยา ระยอง และ15.สาธารณูปโภคครบถ้วน(ไฟฟ้า น้ำ ขยะ)  ส่วน 5 โครงการหลัก++ ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน,ธุรกิจ/อุตสาหกรรม,การท่องเที่ยว,เมืองใหม่,EECI+ศูนย์นวัตกรรมภาคตะวันออก, EECD+ศูนย์ดิจิทัลภาคตะวันออก และ+การศึกษา

 

ด้านความคืบหน้าโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ โดย 15 โครงการแรก มูลค่า 725,084 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการ ประกอบด้วย 3 มอเตอร์เวย์ ,5 รถไฟทางคู่, 3 รถไฟฟ้า(ส้ม,ชมพู,เหลือง),1 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ,1 รถไฟไทย-จีน และ2ท่าเรือแหลมฉบัง(ท่าเทียบเรือA ,ศูนย์ขนส่งฯระยะ1)  ส่วนอีก 4 โครงการ มูลค่า 8,088 ล้านบาท ประกอบด้วย 1รถไฟทางคู่ ,1 จุดพักรถบรรทุกตามเส้นทางขนส่งสินค้าหลัก,1 ศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งฯเชียงของ และ 1 ท่าอากาศยานภูมิภาค (แม่สอด,เบตง,สกลนคร,กระบี่)

 

 

อย่างไรก็ตามแม้สภาวะเศรษฐกิจในประเทศแม้ดูเหมือนจะดีขึ้น แต่ยังมีข้อกังวลเรื่องจำนวนผู้มีงานทำกลับลดลง ในขณะที่ผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น โดยตัวเลขผู้มีงานทำ ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2561  อยู่ที่ 37.6 ล้านคน ลดลง 8.3 หมื่นคน จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากแรงงานรอฤดูกาลที่เพิ่มขึ้น จำนวน 6.2 หมื่นคน ในขณะที่จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นที่  6.1 หมื่นคน ส่วนจำนวนผู้ที่ไม่อยู่ในกำลังแรงงาน เพิ่มขึ้น 2.9 แสนคน จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากภาวะสังคมผู้สูงอายุ

 

toppercool

CEO,Prop2morrow Blogger อสังหาฯ , นักการตลาดดิจิตัล สาย Content marketing