DRT โชว์ศักยภาพผลการดำเนินงานไตรมาส 1/61 ทำรายได้รวม 1,209.38 ล้านบาท หลังกลุ่มลูกค้าโครงการอสังหาริมทรัพย์และห้างค้าปลีกวัสดุก่อสร้างสมัยใหม่เติบโตได้ดี ดันความต้องการใช้สินค้ากลุ่มระบบหลังคาและไม้สังเคราะห์เพิ่ม ส่งผลกำไรสุทธิสูง 140 ล้านบาท มั่นใจครึ่งปีแรกยอดขายโตตามแผนงานไม่ต่ำกว่า 5%
Iนายสาธิต สุดบรรทัด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ผลิตภัณฑ์ตราเพชร จำกัด (มหาชน) หรือ DRT ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ระบบหลังคา ไม้สังเคราะห์ แผ่นบอร์ด ยิปซัม อิฐมวลเบาและบริการหลังการขายภายใต้แบรนด์ ‘ตราเพชร’ เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2561(มกราคม-มีนาคม 2561) มีรายได้รวม 1,209.38 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.79% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ทำได้ 1,165.27 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 140 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.28% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่ทำได้ 135.56 ล้านบาท โดยปัจจัยที่มีผลต่อการเติบโตนั้นมาจากความสำเร็จของลูกค้าโครงการอสังหาริมทรัพย์และห้างค้าปลีกวัสดุก่อสร้างสมัยใหม่ที่ขยายตัวได้อย่างอย่างโดดเด่น เนื่องจากผู้ประกอบการได้ลงทุนพัฒนาโครงการแนวราบในกลุ่มบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์เพิ่มขึ้น รวมถึงการเปิดสาขาใหม่ๆ เพิ่มเติม
ทั้งนี้สินค้าที่มีอัตราการเติบโตได้ดี คือ กลุ่มไม้สังเคราะห์และกลุ่มผลิตภัณฑ์ระบบหลังคา ขณะที่กลุ่มสินค้าอิฐมวลเบาปรับตัวดีขึ้นทั้งในแง่ปริมาณการขายและราคาขายเฉลี่ยต่อหน่วย หลังจาก DRT ประสบความสำเร็จในการกระตุ้นความต้องการใช้สินค้าอิฐมวลเบา โดยออกผลิตภัณฑ์เคาน์เตอร์มวลเบาสำเร็จรูป (ไดมอนด์ เคาน์เตอร์) ที่สะดวกในการติดตั้ง ส่งผลให้มีอัตราการใช้เครื่องจักรของสินค้าอิฐมวลเบาเฉลี่ยอยู่ที่ 70-80% ของกำลังการผลิต
สำหรับทิศทางการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ บริษัทฯ มั่นใจว่าจะรักษาเป้าหมายการเติบโตไม่ต่ำกว่า 5% โดยเห็นสัญญาณความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างที่ดีอย่างต่อเนื่องในช่วงต้นไตรมาส 2 จากช่องทางการขายกลุ่มลูกค้าโครงการอสังหาริมทรัพย์และห้างค้าปลีกวัสดุก่อสร้างสมัยใหม่ที่ยังมีอัตราการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง ส่วนช่องทางขายกลุ่มร้านค้าวัสดุก่อสร้างรายย่อยและตลาดส่งออกไปต่างประเทศยังคงมียอดขายอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ขณะเดียวกัน DRT ได้วางเป้าหมายรักษาอัตราการทำกำไรขั้นต้นเฉลี่ยอยู่ที่ 25-27% โดยใช้กลยุทธ์บริหาร Product Mix จากสินค้าภายใต้แบรนด์ ‘ตราเพชร’ ที่มีความหลากหลาย และการปรับปรุงประสิทธิภาพของเครื่องจักรเพื่อลดต้นทุน รวมถึงรักษาอัตราการเดินเครื่องจักรเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 80-90% ของกำลังการผลิตเพื่อควบคุมต้นทุนการผลิตต่อหน่วยให้อยู่ในระดับต่ำ จึงเชื่อมั่นว่าด้วยแนวทางดังกล่าวจะสามารถบริหารต้นทุนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพและรักษาอัตราการทำกำไรขั้นต้นได้ตามแผนงาน