ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ เผยตัวเลขยอดโอนกรรมสิทธิ์บ้านมือสองปี 2561 ทะลุกว่า 2.9 แสนล้านบาท เติบโต 16 % จากปีก่อน พร้อมจับตาคอนโดฯที่ซื้อขายกันในปีที่ผ่านมาจะนำกลับมาขายใหม่อีกครั้งส่งผลให้ตลาดคอนโดฯเติบโตในเชิงมูลค่าเพิ่ม 25 % ในปี 2562 ฝากกระทรวงการคลัง – รัฐบาลใหม่ผลักดันกม.นายหน้าหวังยกระดับธุรกิจ
ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เปิดเผยถึงภาพรวมตลาดบ้าน(รวมคอนโดมิเนียม)มือสองว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2561 มียอดโอนกรรมสิทธิ์อยู่ที่ 219,000 ล้านบาท(ลบ.) คิดเป็นสัดส่วน 40 % ของยอดโอนกรรมสิทธิ์ทั้งหมด โดยประมาณการณ์ถึงปลายปี 2561 จะมียอดโอนกรรมสิทธิ์ของตลาดบ้านมือสองรวมมูลค่ากว่า 290,000 ล้านบาท ถือว่ามีมูลค่าค่อนข้างมาก
ทั้งนี้ แยกพื้นที่ของตลาดบ้านมือสอง ระหว่างกรุงเทพฯ / ปริมณฑลกับภูมิภาคนั้นจะมีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันคือ 50 : 50 โดยเป็นคอนโดมิเนียมคิดเป็นสัดส่วน 20 % ส่วนที่อยู่อาศัยแนวราบอยู่ที่ 80 % จากสัดส่วนดังกล่าวจะเห็นว่าในบ้านมือสองนั้นมีสัดส่วนคอนโดฯยังไม่มากนัก หลักๆจะอยู่ในกรุงเทพฯ/ปริมณฑล และเมืองใหญ่ๆ
หากดูอัตราการเปลี่ยนแปลงมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ของตลาดบ้านมือสอง จะเห็นว่าการขยายตัวของการโอนกรรมสิทธิ์ในปี 2561 เพิ่มขึ้นจากปี 2560 อยู่ที่ 16 % สะท้อนให้เห็นว่าการซื้อขายของตลาดบ้านมือสองเติบโตขึ้นค่อนข้างมากในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ประกอบกับหากแบ่งตามพื้นที่จะเห็นว่าในเขตกรุงเทพฯ/ปริมณฑลเติบโต 26 % ส่วนพื้นที่ภูมิภาคมีมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์เติบโต 59 % ซึ่งถือว่ามีการเปลี่ยนแปลงเชิงมูลค่าค่อนข้างมาก
ในส่วนของคอนโดฯ ในปี 2561 พบว่า มีมูลค่าลดลง 6 % ขณะที่จำนวนหน่วยนั้นเพิ่มขึ้น ส่วนที่อยู่อาศัยแนวราบมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 23 % สะท้อนให้เห็นว่า บ้านแนวราบเป็นบ้านมือสองเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น เพราะบ้านใหม่ที่ออกมาสู่ตลาดมีราคาแพงขึ้น ดังนั้นการซื้อบ้านมือสองคิดเป็นมูลค่า 60-70 % ของมูลค่าบ้านใหม่ที่อยู่ในทำเลเดียวกัน
สำหรับ Supply (อุปทาน) ประมาณการณ์ในปี 2561 อยู่ที่ 135,000 หน่วย (ยูนิต) ในจำนวนนี้ พบว่า อยู่ในกรุงเทพฯ/ปริมณฑลคิดเป็นสัดส่วน 40 % และอยู่ในภูมิภาคคิดเป็นสัดส่วน 60 % ทั้งนี้จากจำนวนหน่วยทั้งหมดที่อยู่ในกรุงเทพฯ/ปริมณฑลนั้นจะเห็นว่าเป็นคอนโดมิเนียมคิดเป็นสัดส่วน 70 % นี่เป็นอีกจุดหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าตลาดคอนโดฯ มีการเติบโตมากและเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เห็นเด่นชัดในช่วง1 ปีที่ผ่านมา
คาดปี 2562 สัดส่วนมูลค่าคอนโดฯ ปรับเพิ่มเป็น 25 %
พร้อมกันนี้ ดร.วิชัย ยังกล่าวถึงภาพโดยรวมของตลาดบ้านมือสองในปี 2562 อัตราการเปลี่ยนแปลงในด้านอุปทานจะต่างจากปี 2561 โดยในพื้นที่กรุงเทพฯ/ปริมณฑลคาดว่าจะเป็นสัดส่วน 60% ส่วนอุปทานอยู่ในภูมิภาคคิดเป็นสัดส่วน 40 % และคาดการณ์ว่าคอนโดมิเนียมที่มีการซื้อขายกันในปีที่ผ่านมาคาดว่าจะนำกลับมาขายเป็นมือสองในปีนี้ ซึ่งนั่นจะเป็นอีกเหตุผลสำคัญทำให้มูลค่าการซื้อขายของคอนโดมิเนียมมือสองจะปรับเพิ่มเป็น 25 % จากปี 2561 ที่มูลค่าการซื้อขายอยู่ที่ 20 %
อย่างไรก็ดี รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับตลาดบ้านมือสอง และได้ส่งเสริมให้ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ ได้พัฒนาแพลทฟอร์มสำหรับการซื้อขายบ้านมือสองทั้งตลาดคาดว่าจะพัฒนาระบบให้แล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2562 พร้อมกับจะรวบรวมทรัพย์ NPA (Non-Performing Assets) จากแบงก์รัฐทั้งหมดเข้าระบบแพลทฟอร์มที่สร้างขึ้นก่อน จากนั้นก็จะขยายสู่ทรัพย์สินของประชาชนทั่วไปในอนาคตในปี 2563 พร้อมกับจะเปิดกว้างให้ประชาชนนำทรัพย์มาฝากขาย รวมถึงเข้ามาซื้อทรัพย์ผ่านช่องทางนี้ได้
ฝากกระทรวงการคลัง – รัฐบาลใหม่ผลักดันกม.นายหน้า
ส่วนประเด็นที่ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายนายหน้า (โบรกเกอร์) มากำกับและดูแลธุรกิจนี้นั้น ดร.วิชัย กล่าวให้ความเห็นว่า ควรมีการผลักดันให้มีการออกกฎหมายนี้มาดูแลธุรกิจ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นกับตลาด รวมถึงเป็นการยกระดับธุรกิจให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพและคนทำงานทางด้านนี้ให้เป็นมืออาชีพมากขึ้น เพิ่มสภาพคล่องในการซื้อขายเปลี่ยนมือ
“กฎหมายนายหน้ามีการพูดถึงและพยายามที่ผลักดันให้เกิดมากว่า 10 ปี แต่จนถึงวันนี้ยังไม่สำเร็จ ซึ่งจริงๆแล้วกฎหมายนี้มีความสำคัญมาก” ดร.วิชัย กล่าว พร้อมกล่าวในตอนท้ายว่า ปัจจุบันตลาดบ้านมือสองมีการขยายตัวและมีการเติบโตเพิ่มมากขึ้น ซึ่งคงต้องรอดูนโยบายของกระทรวงการคลังและรัฐบาลชุดใหม่อีกครั้งว่าจะมีนโยบายในเรื่องดังกล่าวอย่างไร