การเคหะแห่งชาติ เสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เพื่อขอปลดล็อกที่ดินรอการพัฒา (Sunk Cost) โครงการบ้านเอื้ออาทรที่ได้รับใบอนุญาต สผ.4 เพื่อนำมาปรับเปลี่ยนรูปแบบพัฒนาที่อยู่อาศัยใหม่ให้กับผู้มีรายได้น้อย หากทำได้สำเร็จจะสามารถพัฒนาที่อยู่อาศัยได้ไม่น้อยกว่า 15,000 หน่วย
ดร.ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการบ้านเอื้ออาทรว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้การเคหะแห่งชาติจัดสร้างโครงการบ้านเอื้ออาทรจำนวน 601,727 หน่วย แต่เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ทำให้ความสามารถในการซื้อของผู้มีรายได้น้อยลดลง การเคหะแห่งชาติจึงได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีขอทบทวนปรับลดกรอบเป้าหมายจำนวนหน่วยคงเหลือ 281,556 หน่วย เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2552 ปัจจุบันการเคหะแห่งชาติดำเนินการจัดสร้างโครงการบ้านเอื้ออาทรแล้ว 279,977 หน่วย คิดเป็นร้อยละ 99.44 ของหน่วยก่อสร้างทั้งหมด ซึ่งคาดว่าจะปิดโครงการได้ภายในปี 2562
การจัดสร้างโครงการบ้านเอื้ออาทรสามารถจัดทํารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามแบบ สผ.4 ได้ตามประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้การเคหะแห่งชาติปรับลดหน่วยก่อสร้างลง จึงมีที่ดินรอการพัฒนา (Sunk Cost) จากโครงการบ้านเอื้ออาทร จำนวน 21 โครงการ ประมาณ 1,500 ไร่ ซึ่งเคยได้รับใบอนุญาต สผ.4 แล้ว แต่ไม่สามารถนำมาพัฒนาที่อยู่อาศัยต่อไปได้ เนื่องจากติดขัดด้วยข้อจำกัดของท้ายประกาศ สผ.4 ที่ระบุไว้ว่า โครงการที่เคยได้รับ สผ.4 ไปแล้ว ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการจากเดิมได้การเคหะแห่งชาติจึงได้หารือกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เรื่องการขอปลดล็อกที่ดินดังกล่าวเพื่อนำมาพัฒนาที่อยู่อาศัยให้กับผู้มีรายได้น้อย โดย สผ.ได้ให้ข้อเสนอแนะว่า เรื่องดังกล่าวควรนำเข้าเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เพื่อพิจารณา โดยการเคหะแห่งชาติได้ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2562 ถ้าหากสามารถปลดล็อกที่ดินดังกล่าวได้สำเร็จ การเคหะแห่งชาติจะสามารถนำที่ดินมาพัฒนาที่อยู่อาศัยได้เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 15,000 หน่วย