รฟม.เตรียมประกวดราคารถไฟฟ้าเชียงใหม่ สายสีแดง

  • Post author:
You are currently viewing รฟม.เตรียมประกวดราคารถไฟฟ้าเชียงใหม่ สายสีแดง

รฟม. จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 (การปฐมนิเทศโครงการ)งานศึกษารายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ และจัดเตรียมเอกสารประกวดราคาโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง (โรงพยาบาลนครพิงค์ – แยกแม่เหียะสมานสามัคคี)

วันนี้ (31 กรกฎาคม 2562) นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 (การปฐมนิเทศโครงการ)  านศึกษารายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ และจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง (โรงพยาบาลนครพิงค์ – แยกแม่เหียะสมานสามัคคี) มีวงเงินลงทุน 27,791.62 ล้านบาท(ไม่รวมค่ากรรมสิทธิ์ที่ดิน) โดยภายในงานมีผู้นำชุมชนและประชาชนในพื้นที่ ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรอิสระ สถาบันการศึกษา และผู้สนใจรวมถึงสื่อมวลชนเข้าร่วมการประชุมกว่า 250 คน ณ ห้องแกรนด์วิว 3 โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

ทั้งนี้ ได้รับเกียรติจากนายมนัส ขันใส รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมเป็นประธานพิธีเปิด โดยการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งนี้เป็นการนำเสนอข้อมูลโครงการ แผนการดำเนินงาน แนวคิดการออกแบบรูปแบบโครงการ แนวทางการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้รับทราบข้อมูลพร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อนำไปเป็นแนวทางในปรับปรุงโครงการต่อไป

สำหรับการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 (การปฐมนิเทศโครงการ) นี้ เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานช่วงที่ 1 งานศึกษารายละเอียดความเหมาะสม (Feasibility Study) ออกแบบ จัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์การให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการ มีระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี ซึ่งตามผลการศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดเชียงใหม่ ของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ระบุว่า โครงการระบบขนส่งมวลชน จังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง (โรงพยาบาลนครพิงค์ – แยกแม่เหียะสมานสามัคคี) เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit) รูปแบบโครงสร้างทางวิ่งผสมระดับใต้ดินและระดับดิน มีแนวเส้นทางตามแนวเหนือ – ใต้ รวมระยะทางประมาณ 12.5 กิโลเมตร มีสถานีจำนวน 12 สถานี ผ่านสถานที่สำคัญ เช่น โรงพยาบาลนครพิงค์ สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ สถานีขนส่งช้างเผือก โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีหางดง (แยกแม่เหียะ สมานสามัคคี) เป็นต้น

ทั้งนี้ รฟม. ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ให้เป็นผู้ดำเนินโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ ในรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) โดยให้ดำเนินการก่อสร้าง ครั้งละ  1 เส้นทาง เริ่มจากสายสีแดง (โรงพยาบาลนครพิงค์ – แยกแม่เหียะสมานสามัคคี) เป็นลำดับแรก ซึ่งเมื่อโครงการแล้วเสร็จสมบูรณ์จะช่วยเพิ่มทางเลือกในการเดินทางที่มีประสิทธิภาพและมาตรฐาน รวมถึงมีความสะดวก รวดเร็ว และความปลอดภัย ให้แก่ของประชาชนและนักท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงสามารถลดการใช้รถยนต์โดยรวมบนท้องถนน จึงช่วยลดปริมาณมลพิษในอากาศที่เกิดจากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของรถยนต์ได้อีกด้วย

ความเป็นมาของโครงการ

คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบกในการประชุมครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561 มีความเห็นว่าควรดำเนินการก่อสร้างโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางจังหวัดเชียงใหม่ในรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) ครั้งละ 1 เส้นทาง ตามลำดับความสำคัญและให้ทยอยก่อสร้างเส้นทางอื่นๆ ต่อไป และมีมติมอบหมายให้ รฟม. ดำเนินโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ในรูปแบบ PPP

ลักษณะโครงการ

แนวเส้นทาง

แนวเส้นทางเป็นโครงสร้างระดับดินเริ่มต้นจากโรงพยาบาลนครพิงค์วิ่งไปตามถนนโชตนาเลี้ยวขวาที่ทางแยกศูนย์ราชการร่วมใจเข้าสู่ถนนสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี ผ่านศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนรอบเมืองเชียงใหม่ ผ่านสนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี และศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1366 (หนองฮ่อ – ศูนย์พัฒนาปิโตรเลียมภาคเหนือ) ผ่านสถานีตำรวจภูธรช้างเผือก เลี้ยวขวากลับเข้าสู่ถนนโชตนา และเปลี่ยนจากโครงสร้างระดับดินเป็นโครงสร้างใต้ดิน (Transition) ที่บริเวณแยกข่วงสิงห์ จากนั้นวิ่งไปตามถนนช้างเผือกผ่านมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ สถานีขนส่งผู้โดยสารเชียงใหม่ แห่งที่ 1 (ช้างเผือก) เลี้ยวขวาวิ่งไปตามถนนมณีนพรัตน์ และเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนบุญเรืองฤทธิ์ ผ่านโรงพยาบาลเชียงใหม่ราม โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ประตูสวนดอก โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ เลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนมหิดลผ่านเซ็นทรัลพลาซ่า เชียงใหม่ แอร์พอร์ต เลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนสนามบินผ่านท่าอากาศยานเชียงใหม่ แล้วค่อยๆ เปลี่ยนจากโครงสร้างใต้ดินเป็นโครงสร้างระดับดิน วิ่งไปตามถนนเชียงใหม่ – หางดง ผ่านสำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ หางดง และสิ้นสุดที่บริเวณแยกแม่เหียะสมานสามัคคี

แผนที่แนวเส้นทางเชียงใหม่ สายสีแดง

         โครงสร้างทางวิ่ง

เป็นโครงสร้างผสมระหว่างโครงสร้างใต้ดินและโครงสร้างระดับดิน มีระยะทางรวม 12.54 กิโลเมตร (โครงสร้างใต้ดิน 7.37 กิโลเมตร และโครงสร้างระดับดิน 5.17 กิโลเมตร)

         ระบบรถไฟฟ้า

เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit : LRT)

         สถานี

ประกอบด้วยสถานีทั้งหมด 12 สถานี

     ศูนย์ซ่อมบำรุง

ในเบื้องต้นศูนย์ซ่อมบำรุงจะตั้งอยู่ที่บริเวณฝั่งตรงข้ามศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ติดกับเดอะคอนเวนชั่น คอนโดมิเนียม เชียงใหม่

   จุดจอดแล้วจร

ในเบื้องต้นจุดจอดแล้วจรจะตั้งอยู่ที่บริเวณศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา และบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ หางดง

 

 

 

preeya tednok

ปุ่น ปรียา เทศนอก ผู้อำนวยการฝ่ายข่าว prop2morrow ผู้คร่ำหวอดในวงการสื่อสารมวลชนด้านอสังหาริมทรัพย์มากว่า 20 ปี