ตลอดสองเดือนที่ผ่านมา ประเทศไทยพบผู้ป่วย COVID-19 เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง และครอบคลุมทุกช่วงอายุ เราได้เห็นว่ามีเด็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบ กลายเป็นผู้ป่วยติดเชื้อ เช่นเดียวกันกับนักกีฬาที่ฟิตร่างกายให้เฟิร์มและแข็งแรงอยู่เสมอยังเป็นกลุ่มผู้ติดเชื้อด้วยเช่นกัน จึงเกิดคำถามตามมาว่า ใครคือกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงสุดที่มีโอกาสติดเชื้อไวรัสนี้? นอกเหนือจากผู้ป่วยด้วยโรคอื่นที่สุ่มเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน แน่นอนว่า กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูงอยู่อันดับต้น ๆ เป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก กลุ่ม “ผู้สูงอายุ” ที่มีอัตราการเสียชีวิตมากกว่าผู้ป่วยไวรัสโควิด – 19 ช่วงวัยอื่น ๆ ดังนั้นผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อรุนแรงควรทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อลดการสัมผัสกับไวรัส รักษาช่องว่างระหว่างบุคคล เช่น หลีกเลี่ยงการแสดงความรักกับลูกหลานหรือคนในครอบครัว หรือหากจำเป็นต้องไปอยู่ในพื้นที่ที่ผู้คนแออัดก็ควรป้องกันและควบคุมปัจจัยที่อาจก่อให้เกิดการแพร่เชื้ออย่างเต็มที่ พกเจลแอลกอฮอล์ หมั่นล้างมือ ควรอาศัยอยู่ภายในบ้านให้มากที่สุด
เวิลด์อีโคโนมิคฟอรั่มระบุว่าในขณะที่ทุกภาคส่วนวางแผนรับมือการแพร่กระจายหรือติดเชื้อไวรัส COVID-19 ทุกคนในครอบครัวจำเป็นต้องรับรู้และตระหนักถึงความเสี่ยงต่าง ๆ ที่มีต่อผู้สูงอายุที่ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากกว่า ซึ่งในกรณีนี้ทุกคนรวมถึงตัวผู้ใหญ่ในครอบครัวเองด้วยที่ต้องสำรองยารักษาโรคหรือสิ่งที่ต้องใช้เป็นประจำไว้ให้พอเพียงและต้องเก็บให้ปลอดเชื้อ ควรวางแผนสำรองอื่น ๆ สำหรับการดูแลผู้สูงอายุในกรณีจำเป็นด้วยเช่นกัน นอกจากนี้สมาชิกแต่ละคนสามารถแสดงความใส่ใจกันและกันได้มากขึ้นด้วยการถามไถ่หรือสังเกตสุขภาพของผู้สูงวัยในครอบครัว หรืออำนวยความสะดวกเมื่อต้องเดินไปห้องน้ำ ห้องครัวหรือห้องนอน ไปจนถึงจัดระเบียบสิ่งของเครื่องใช้ให้เป็นที่เป็นทางหยิบใช้ได้เมื่อต้องการ
ปัจจัยสำคัญอีกประการหนี่งที่จะช่วยลดความเสี่ยงจากโรคนี้ได้คือการจำกัดการมาเยี่ยมของญาติมิตรหรือเพื่อนบ้านเป็นการชั่วคราว ฟังดูอาจเป็นเรื่องลำบากใจสำหรับผู้สูงอายุส่วนใหญ่ที่ยังยินดีกับการไปมาหาสู่กันโดยเฉพาะในสังคมไทย คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยจอห์นฮอบกินส์ระบุว่าการเว้นระยะห่างทางสังคมไม่ได้หมายความว่าต้องใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยวแต่อย่างใด การอยู่อย่างโดดเดี่ยวอาจส่งผลต่อสุขภาพกายและใจของบรรดาผู้ใหญ่ในบ้าน ซึ่งสมาชิกในครอบครัวต้องทำความเข้าใจร่วมกันถึงความจำเป็นที่ต้องจำกัดการไปมาหาสู่กัน การส่งข้อความหรือการวิดีโอคอลก็อาจเป็นเรื่องที่เหมาะกว่าในเวลานี้
นางกมลภัทร แสวงกิจ ผู้จัดการใหญ่ ประจำประเทศไทย ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ ได้ให้มุมมองและเสนอแนะแนวทางสร้างประสบการณ์ที่น่าสนใจแก่ผู้สูงอายุว่า “การใช้ ‘อายุ’ เป็นตัวชี้วัดผู้สูงอายุและภาพจำเดิม ๆ ที่ว่าผู้สูงเป็นวัยที่ไม่สนใจเทคโนโลยี ไม่ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เบื่อง่าย สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องถูกปรับความเข้าใจใหม่ เพราะเทคโนโลยีที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้ ได้รับการออกแบบมาเพื่อความสะดวกสบายและเข้าถึงคนทุกเพศทุกวัย ยิ่งในสถานการณ์นี้ แม้ Physical Distancing จะเพิ่มความปลอดภัยให้ทุกคนในครอบครัว แต่จะยิ่งเพิ่มช่องว่างให้เกิดขึ้นในความรู้สึกของผู้สูงอายุไปพร้อม ๆ กัน ดังนั้นการเพิ่มประสบการณ์ใช้ชีวิตรูปแบบที่ทันสมัยขึ้นผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล ภายใต้การดูแลและวิธีการที่ถูกต้องเหมาะสม ไม่เพียงแต่ลดความห่างเหิน แต่ยังช่วยเพิ่มสีสันให้กับไลฟ์สไตล์และพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุได้ไปพร้อมกัน”
กิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุในช่วงเวลา Social Distancing
นัดปาร์ตี้ซีเนียร์เมมเบอร์และคนที่รักบนเวอร์ชวลวิดีโอ
ปัจุบันมีเครื่องมือที่ใช้สื่อสารมากมายทั้งแบบที่เปิดให้ใช้งานฟรี เช่น Skype LINE FACEBOOK หรือแม้แต่ Facetime มีหลายวิธีในการติดต่อกับครอบครัวและเพื่อนโดยไม่จำเป็นต้องออกจากบ้าน นอกจากนี้เครื่องมือสื่อสารต่าง ๆ ยังมีฟีเจอร์วิดีโอที่มีความคมชัดสูง ช่วยให้ผู้สูงอายุเชื่อมต่อกับคนที่รักได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น นับเป็นวิธีที่น่าสนใจที่สามารถยกระดับจิตใจและเติมเต็มความรู้สึกให้แก่ผู้สูงอายุได้ไม่น้อย
เล่นเกมออนไลน์คลายเครียด
ปัจจุบันนี้มีเกมส์ออนไลน์ผุดขึ้นมามากมาย ทั้งบอร์ดเกมออนไลน์ ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งคอมมูนิตี้แก้เหงาของทุกคน โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่โตมากับเกมการ์ดอย่าง “เกมเศรษฐี” จั่วไพ่แล้วสร้างแลนด์มาร์กกันได้ ซึ่งวันนี้ก็มีมาให้เล่นกันในรูปแบบดิจิทัล แถมยังมีฟีเจอร์ต่าง ๆ ให้ได้ใช้เพื่อเพิ่มอรรถรสเหมือนนัดไปล้อมวงเล่นกันที่บ้านเพื่อน ทั้งแชท ทั้งส่งเสียง ก็สามารถขิงใส่กันได้เต็มเหนี่ยว นอกจากบอร์ดเกมแล้ว ยังมีเกมฝึกทักษะอื่น ๆ ให้เลือกเล่นมากมายทั้งในรูปแบบเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยกระตุ้นพัฒนาการทางร่างกาย การเคลื่อนไหว และสมองแล้ว ยังเป็นการลดความเสี่ยงที่เกิดจากการสัมผัสขณะเล่นเกมแบบออฟไลน์ได้
สตรีมมิ่งคอนเสิร์ตและเพลงออนไลน์
ผู้สูงอายุหลายคนค้นพบการปลดปล่อยความรู้สึก อารมณ์และจัดการความเครียดผ่านเสียงดนตรี ในช่วงเวลาเช่นนี้แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งวิดีโอและเพลงออนไลน์ได้กลายเป็นพระเอกคนสำคัญ ที่ช่วยให้ผู้คนผ่านพ้นช่วงเวลาที่ท้าทาย โดยเปิดให้พวกเขาได้เพลิดเพลินกับวิดีโอคอนเสิร์ต เอ็มวี และเพลงโปรดได้จากที่บ้าน
คอร์สเรียนออนไลน์เสริมทักษะและเพิ่มการเรียนรู้ใหม่ ๆ
แน่นอนว่า นี่อาจเป็นช่วงเวลาที่ผู้สูงอายุหลายคนรอคอย ในการหาโอกาสที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาทักษะและความสามารถที่ตอบความต้องการของสถานประกอบการที่เปิดให้วัยเกษียณเข้าไปร่วมงาน ทุกวันนี้เราจะได้เห็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ตอบโจทย์ดังกล่าวที่เปิดให้บริการทั้งแบบเสียและไม่เสียค่าใช้จ่ายหรือผู้สูงอายุท่านใดที่ชื่นชอบการหาความรู้ด้วยตัวเองก็สามารถแบ่งเวลาบางช่วงมาหาความรู้จากคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่ผลิตคอนเทนต์มากมายและนำเสนอผ่านแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่งที่เปิดให้บริการอยู่ทั่วไปขณะนี้
“ในแต่ละปี คนไทยมีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงกลุ่มผู้สูงอายุที่เข้าถึงแพลตฟอร์มออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน แสดงให้เห็นถึงการปรับตัวในเชิงพฤติกรรมของคนในกลุ่มดังกล่าว จากข้อมูลกาของเว็บไซต์ DDproperty.com ย้อนหลังในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาพบว่าสัดส่วนของผู้ใช้งานกลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไปมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า (จากประมาณ 55,000 คนในปี 2558 เป็น ประมาณ 125,000 คน ในปี 2562) นับเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญที่ธุรกิจต่าง ๆ จับจ้องและให้ความสำคัญกับตลาดกลุ่มนี้มากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ” นางกมลภัทร กล่าวเสริม
“A house is made of brick and stone. A home is made of love alone.” ที่เข้าใจได้ง่าย ๆ หรือถ้าเป็นบริบทของสังคมไทยที่เคยมีคนแปลไว้อย่างจับใจว่า “ที่พักกายก่อด้วยอิฐและหินหนัก ที่พักใจก่อด้วยรักเพียงอย่างเดียว” นั้นน่าจะให้ความหมายของการอยู่ร่วมกันในสังคม ในช่วงเวลาที่ทุกคนในบ้านมีบทบาท ทุกคนมีความสำคัญ และในวันที่บริบทของ “ครอบครัว” ต้องเปลี่ยนไปเช่นนี้ เราทุกคนต่างยิ่งตระหนักดีว่า อะไร…คือสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับทุกคนในครอบครัว?