จากการแพร่ระบาดของไวรัส โคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ โควิด-19 ได้ส่งผลกระทบไปในหลากหลายอุตสาหกรรม ชนิดที่ไม่เคยประสบกันมาก่อน เพราะวิกฤตที่ผ่านมา จะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากบุคคล ซึ่งก็สามารถแก้ไขได้ แต่เหตุการณ์ในครั้งนี้เป็นการต่อสู้กับเชื่อโรค ที่ยากต่อการคาดเดาว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด ดังนั้นในส่วนของภาคธุรกิจอสังหาฯก็มีการปรับแผนรับมือแบบรายวันเลยทีเดียว ชนิดที่ว่ากระพริบตาไม่ได้เลยทีเดียว ซึ่งทุกบริษัทก็ต้องดิ้นรนทุนวิถีทาง เพื่อให้ผ่านวิกฤตนี้ไปให้ได้ และต่างมองว่าโควิด-19 นี้ ได้ให้บทเรียนใหม่ในการพัฒนาโครงการ การดีไซน์ และการขาย ฯลฯได้เป็นอย่างดี และคาดว่าจะมีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามารองรับเหตุกาณ์ในรูปแบบนี้ ได้อย่างท่วงที โดยเฉพาะในเรื่องความปลอดภัยด้านสุขอนามัย
ทางเลือกใหม่นวัตกรรมความปลอดภัยด้านสุขภาพ
นายวันจักร์ บุรณศิริ ประธานผู้บริหารสายงานการเงินและสนับสนุนธุรกิจ บริษัท แสนสิริ จำกัด(มหาชน)หรือ SIRI เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ โควิด-19 ได้ให้บทเรียนในการดำเนินธุรกิจด้วยคำว่า “ชีวิตต้องสู้” โดยในทุกวิกฤตต้องมีทางออก และต้องหาทางออกนั้นให้ได้ ซึ่งบริษัทฯได้ผ่านมาหลายวิกฤตแล้ว โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 ซึ่งแต่ละสถานการณ์จะมีความหนักหนา และท้าทายที่แตกต่างกันกัน โดยจะต้องวิเคราะห์สถานการณ์แต่ละครั้ง และสู้กับวิกฤตนั้นๆให้ผ่านไปได้ ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทฯก็ผ่านมาได้
“โควิด-19 นั้น เมื่อเทียบกับปัจจัยลบอื่นๆในช่วงปี 2562 ที่ผ่านมา ถือว่าหนักหนาพอสมควร ไม่มีอะไรดีขึ้นมากนัก ภาคธุรกิจอสังหาฯก็รวยรินมาตลอด แต่เมื่อต้นปี 2563 คิดว่าจะเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น แต่เมื่อมาเจอโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบกำลังซื้อในประเทศและต่างประเทศไปหมด และไม่รู้ว่าสถานการณ์นี้จะจบอย่างไร นานเพียงใด” นายวันจักร์ กล่าว
อย่างไรก็ตามมองว่า แนวโน้มในอนาคต ผู้ประกอบการอสังหาฯจะให้ความสำคัญของนวัตกรรมใหม่ๆที่เน้นเรื่องความปลอดภัยด้านสุขภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันด้านการขายก็เน้นผ่านออนไลน์มากขึ้น และลูกค้าก็เห็นความสำคัญรูปแบบการขายในรูปแบบดังกล่าวมากขึ้นเช่นกัน แม้ว่าในความเป็นจริงแล้วลูกค้าส่วนใหญ่จะมีความต้องการเห็นและสัมผัสสินค้าตัวอย่างมากกว่า ในกรณีโควิด เพราะลูกค้ายังอยากเห็นของจริงอยู่ดี ซึ่งกรณีมาตรการต่างๆที่ออกมารับมือโควิด-19 เหมือนเป็นทางเลือกเฉพาะกิจ ที่ถูกบีบบังคับให้ทำ ส่วนการขายผ่านระบบออนไลน์ 24 ชั่วโมง ของบริษัทฯ ลูกค้าให้การตอบรับดี เพราะลูกค้าที่เป็นเรียลดีมานด์มีความต้องการที่อยู่อาศัยอยู่แล้ว ดังนั้นก็จะช่วยให้ตัดสินใจได้เร็วขึ้น
รูปแบบการดีไซน์ในอนาคตรอความท้าทาย
นายวิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์องค์กร และการสร้างสรรค์ บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด(มหาชน)หรือ AP กล่าวว่า วิกฤตโควิด-19 ถือเป็นตัวอย่างบทเรียนแรกของนักพัฒนาธุรกิจ คือมาเร็วและแรงมาก ซึ่งในอนาคตต้องเตรียมรับมือกับวิกฤตให้ดีขึ้น โดยทุกบริษัทฯต้องปรับเปลี่ยนนโยบาย และวางแผนในการรับมือ เป็นวิกฤตที่สอนให้รู้ว่าการบริหารการเติบโตและความเสี่ยง จะต้องควบคู่ไปด้วยกันเพื่อมาประกอบการวางแผน ใครที่มีความเสี่ยงสูงก็บาดเจ็บมาก ซึ่งการปรับเปลี่ยนการทำงานดังกล่าว ก็ต้องนำเทคโนโลยีมาใช้ และการทำงานพร้อมกับลูกค้า ถือเป็นมุมมองใหม่ที่เป็นบทเรียน ดังนั้นวิกฤตในครั้งนี้ถือเป็นตัวโชว์องค์กร ในการร่วมแก้ปัญหากับบุคคลรอบข้างและสังคม
อย่างไรก็ตามมองว่าวิกฤต โควิด-19 นี้ ผู้ประกอบการและผู้อยู่อาศัยเองจะเริ่มให้ความสำคัญกับสุขอนามัยมากขึ้น เช่น การจัดการระบายอากาศ การหาพื้นที่ผิวที่ทำความสะอาดง่าย ด้วยการนำเทคโนยีใหม่ที่เลี่ยงการสัมผัสพื้นผิวสาธารณะ โดยใช้ผ่านมือถือเพียงอย่างเดียว ส่วนเรื่องการบริหารต่างๆก็ต้องนำเทคโนฯเข้ามาช่วย
ด้านการออกแบบ โดยเฉพาะพื้นที่ส่วนกลาง ผู้ประกอบการเริ่มให้ความสนใจมากขึ้น เช่น ลู่วิ่งในห้องออกกำลังกาย อาจออกแบบให้มีความไพรเวท มากขึ้น ส่วนพื้นที่ Coworking Space จะต้องดีไซน์ให้เป็นส่วนตัวบนพื้นที่ส่วนรวม ซึ่งถือเป็นความท้าทายด้านการออกแบบ
ขณะที่รูปแบบการขาย จะเปลี่ยนไป จะดำเนินการผ่านเทคโนโลยีมากขึ้น ซึ่งรูปแบบดังกล่าวนั้นมีเกิดขึ้นแล้ว แต่วิกฤตโควิด-19 จะยิ่งเป็นตัวเร่งผลักดันให้นำเทคโนโลยีดังกล่าวออกมาใช้ได้เร็วขึ้น เพราะ ณ วันนี้ลูกค้าไม่อยากออกจากบ้าน ดังนั้นจึงต้องนำเทคโนโลยีมานำเสนอลูกค้าได้เห็นภาพเสมือนจริง ทั้งเรื่องสัญญาการซื้อขายก็เช่นกัน
“วิกฤตนี้มาเร็วและแรงกว่าปัจจัยลบอื่น และไม่ใช่แค่บางพื้นที่ แต่กระจายไปทั่วทุกมุมโลก ทำให้เกิดมาตรการต่างๆขึ้น แบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นในโลกนี้เลยในหลายเรื่อง ซี่งต่างจากหลายวิกฤตที่ผ่านมาในหลายๆองค์ประกอบ ที่ไม่ใช่เกิดจากฝีมือมนุษย์ แต่เป็นมนุษย์สู้กับเชื้อโรค ซึ่งไม่ทราบว่าจะจบลงเมื่อไหร่ และไม่มีใครสามารถตอบได้” นายวิทการ กล่าวในที่สุด
พฤติกรรมการซื้อเปลี่ยน-ทำเลยังเป็นตัวชี้นำ
ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SENA กล่าวว่า โควิด-19 ถือเป็นประสบการณ์ใหม่ และเกิดขึ้นอย่างรุนแรง เปรียบเสมือน Black Swan ซึ่งเกิดไปทั่วโลก ต่างจากช่วงระยะเวลาปกติหากเศรษฐกิจไม่ดี มักจะรับรู้ก่อนล่วงหน้า และรับมือได้ทัน ดังนั้นมองว่าในอนาคตการให้มูลค่ากับสินค้าจะเปลี่ยนไป จากในอดีตดีมานด์ที่มีความต้องการซื้อคอนโดมิเนียม จะชอบโครงการที่อยู่ใกล้แนวรถไฟฟ้า มีระบบสาธารณูปโภคที่เพียบพร้อม ต่อไปจะเน้นโครงการที่มียูนิตที่ใหญ่ มีพื้นที่ส่วนตัวมากขึ้น โดยไม่จำเป้นต้องใกล้แนวรถไฟฟ้า แต่ราคาเท่ากันหรือใกล้เคียงกัน หรืออาจชอบคอนโดฯที่มีขนาดที่เล็กลง จำนวนยูนิตน้อย หรืออาจยอมรับการซื้อโครงการแนวราบมากขึ้นแม้จะอยู่ไกลขึ้นก็ตาม แต่ทั้งนี้ขึ้นกับตัวแปรต่างๆ ซึ่งมองว่าทำเลที่ดีมีศักยภาพก็ยังเป็นตัวชี้นำเป็นลำดับแรกอยู่ดี
“เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่รู้ล่วงหน้า เกิดขึ้นทันทีเหมือนโดนชก ถือเป็นบททดสอบที่รุนแรง ทำให้การแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ยากกว่าปกติ ซึ่งมองได้ 3 มุม คือ ระยะสั้น กลาง ยาว และก็พร้อมปรับตัวรับกับสถานการณ์” ผศ.ดร.เกษรา กล่าว
ด้านการการดีไซน์ก็มีการเปลี่ยนแปลง รองรับการทำงานแบบ Working from Home (WFH) มากขึ้น รวมไปถึงเน้นความสะอาด และการบริการหลังการขาย ก็จะทำให้เห็นมูลค่าที่ต่างกัน หากผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจบริการหลังการขายเองก็จะทำให้เห็นความแตกต่างมากขึ้น ด้านพื้นที่ส่วนกลางก็จะเน้นเรื่องสุขภาพ หรือการให้บริการมาสอนถึงบ้านโดยที่ไม่ต้องออกจากบ้าน และจากการที่กลุ่มคนวัยทำงานหันมา WFH ทำให้พบว่าลูกค้าสนใจให้บริการ โซลาร์รูฟท็อป มากขึ้น ซึ่งถือเป็นจุดขายที่สำคัญของบริษัท
ส่วนการขายสินค้าแม้จะใช้ระบบออนไลน์มาช่วยในการขาย แต่ลูกค้าก็ยังต้องการเห็นของจริง ก่อนที่จะทำสัญญามากกว่า
ซึ่งคงต้องจับตาดูว่าหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง เทรนด์การพัฒนาที่อยู่อาศัย ทั้งแนวสูงและแนวราบ จะพลิกโฉมไปในรูปแบบไหน และตอบโจทย์การอยู่อาศัยในอนาคตมากน้อยเพียงใด