อสังหาริมทรัพย์ในสถานการณ์ COVID-19

  • Post author:
You are currently viewing อสังหาริมทรัพย์ในสถานการณ์ COVID-19

วิกฤตปี 2540 เริ่มจากภาคการเงินแล้วลามไปสู่ภาคธุรกิจ แต่วิกฤตรอบปัจจุบันกำลังจะลามจากประเด็นสาธารณสุขสู่ภาคธุรกิจและส่งต่อไปสู่ภาคการเงิน ทั้งนี้ ในความเป็นจริงภาคธุรกิจโดยรวมได้มองเห็นสัญญาณการชะลอตัวทางเศรษฐกิจมาตั้งแต่กลางปี 2562 เป็นอย่างน้อย

ในวิกฤตรอบนี้จึงมีความจำเป็นที่จะต้องรีบควบคุมไม่ให้ปัญหาบานปลายไปมากขึ้น โดยในส่วนของการควบคุมโรคก็ต้องดำเนินไปอย่างเข้มข้นตามสถานการณ์ระบาด และในส่วนของเศรษฐกิจรัฐต้องดูแลในระยะเฉพาะหน้าให้ภาคประชาชนที่เดือดร้อนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมีสภาพคล่องพอประมาณหรือพอที่จะต่อลมหายใจไปได้จนถึงปลายปีนี้

คุณสัมมา คีตสิน

การ lock down ปิดประเทศปิดเมืองขั้นสูงสุดย่อมกระทบต่อการประกอบการของภาคธุรกิจและการทำมาหากินของประชาชน แต่การ re-open ทุกอย่างทั้งระบบก็เป็นเป็นความเสี่ยงทางสาธารณสุขที่ไม่อาจรับได้ ดังนั้น ทางออกคือการเดินทางสายกลาง หมายถึงการเปิดให้มีการค้าขายประกอบกิจการโดยวงจำกัดและมีมาตรการควบคุมอย่างพอเพียง เช่น ผู้ประกอบการร้านค้าต้องจัดให้มีเครื่องมือและอุปกรณ์ป้องกันควบคุมโรค มีมาตรการรักษาระยะห่างที่ถูกต้องโดยการจำกัดจำนวนคนต่อช่วงระยะเวลาที่เปิดทำการ โดยอาจใช้ Applications ต่างๆที่เกี่ยวกับการจองคิว การแจ้งเตือน การซื้อขาย การโอนเงิน การนัดหมาย การบริการหลังการขาย การประชุม ฯลฯ

ทั้งนี้ การผ่อนปรนจากมาตรฐานหลัก ไม่ว่าจะในด้านใดย่อมมีราคาที่จะต้องจ่ายชดเชย เช่น การแจกเงินย่อมกระทบงบประมาณและภาษีของประชาชน การผ่อนเกณฑ์ทางการเงินโดยภาคธนาคารเพื่อช่วยเหลือประชาชนหรือผู้ประกอบการรายกลางรายย่อยนั้นก็ย่อมก่อให้เกิดปัญหาหนี้เสียที่จะตามมาเพิ่มอีกจำนวนหนึ่งในภายหลังเมื่อมาตรการสิ้นสุด

ปัญหาเช่นนี้กำลังเกิดขึ้นกับนานาประเทศไม่เฉพาะแต่ประเทศไทย จนสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำต้องประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือของสถาบันการเงินจำนวนมากทั่วโลก  สำหรับในประเทศไทยเอง ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่เกือบทั้งหมดได้ถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือลงสู่ระดับ BBB ซึ่งยังถือเป็นระดับ Investment Grade ที่นักลงทุนทั่วโลกยังสามารถลงทุนได้ แต่เมื่อถึงจุดสูงสุดของปัญหาเมื่อระยะเวลาทอดออกไปถึงปลายไตรมาสที่ 3 หรือต้นไตรมาสสุดท้ายของปีนี้หรือแม้กระทั่งเข้าสู่ช่วงต้นปี 2564 สถาบันการเงินน่าจะได้รับผลกระทบมากยิ่งขึ้นจากภาวะหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ที่จะเพิ่มสูงขึ้นเมื่อมาตรการพักชำระหนี้สิ้นสุดโดยไม่มีการต่อระยะเวลา

สถาบันการเงินต่างๆมองล่วงหน้าถึงปัญหาเหล่านี้ จึงได้เพิ่มความเข้มงวดในการดำเนินธุรกรรมกับลูกค้าทุกระดับทั้งผู้กู้รายย่อยและผู้ประกอบการ โดยได้เริ่มลด Commitment หรือความผูกมัดในการให้ความสนับสนุนทางการเงินต่อภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะในรูปแบบตราสารทางการเงินใดๆหรือการกู้เงินเพื่อการลงทุนในโครงการหรือแม้กระทั่งเพื่อการหมุนเวียนทางธุรกิจ หากสถาบันการเงินไม่มั่นใจในศักยภาพของผู้กู้จริงๆ

ปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมาคือทั้งประชาชนและผู้ประกอบการจำนวนมากที่มีสายป่านไม่ยาวพอที่จะหล่อเลี้ยงตัวเองได้นานเกินกว่า 1-2 ไตรมาสจะเริ่มแสดงอาการชัดเจนภายในช่วงกลางปีนี้ต่อเนื่องกับช่วงไตรมาสที่ 3 ทางออกคือการที่จะต้องเริ่มรักษาสภาพคล่องของตนเองให้ได้มากที่สุด สำหรับประชาชนทั่วไปคือการหยุดหรือชะลอการใช้จ่ายเงินซื้อสินค้าคงทนหรือสินค้าที่มีราคาแพงเกินความสามารถทางการเงินของตน เช่น รถยนต์ บ้าน กระเป๋าแบรนด์เนม ฯลฯ และสำหรับผู้ประกอบการทั่วไปคือการเลิกจ้างพนักงานหรือขอความร่วมมือลดค่าจ้างหรือพักงานหรือเจรจาต่อรองราคาค่าเช่าสถานที่ทำการ ฯลฯ

ในส่วนของผู้ประกอบการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย ในช่วงนี้ย่อมประสบปัญหาด้านการขาย เนื่องจากมาตรการทางสาธารณสุขและการขาดความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายของผู้บริโภคทำให้อุปสงค์หรือความต้องการซื้อลดลงอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการให้สินเชื่อโครงการหรือการ rollover วงเงินเดิม ทำให้ผู้ประกอบการต้องหันมาทบทวนการออกโครงการขายใหม่และการก่อสร้างโครงการที่ประกาศชายไปแล้ว การรักษาสภาพคล่องหรือการรักษาเงินสดอาจหมายถึงการตัดใจยอมขายสินค้าในราคาที่ต่ำกว่าราคาประกาศมาก หรืออีกนัยหนึ่งคือการยอมขาดทุนกำไร หรือสำหรับบางรายอาจหมายถึงการไม่มีกำไรด้วยซ้ำ

ผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งที่ไม่อาจดำเนินการแก้ปัญหาได้นั้น สุดท้ายจะต้องตัดสินใจขายที่ดินทิ้งหรือขายยกโครงการที่อาจมีการก่อสร้างไปแล้วให้ผู้ประกอบการรายอื่นที่สายป่านยาวกว่าเพื่อดำเนินการต่อ ซึ่งเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ อาจถือเป็นกรณี win-win เพราะผู้ประกอบการที่ขายสามารถหลุดออกจากวงจรที่ตนขาดความสามารถในการเดินต่อ และสำหรับผู้ซื้อโครงการหมายถึงการร่นระยะเวลาในการขอใบอนุญาตต่างๆและระยะเวลาในการก่อสร้างโครงการ ทำให้สามารถกลับมาแข่งขันหรือทำการตลาดเพื่อขายได้ก่อนใครเมื่อสถานการณ์ฟื้นตัวดีขึ้นในปีต่อไป

บทความโดย :

คุณสัมมา คีตสิน

นักเศรษฐศาสตร์อสังหาริมทรัพย์

 

 

preeya tednok

ปุ่น ปรียา เทศนอก ผู้อำนวยการฝ่ายข่าว prop2morrow ผู้คร่ำหวอดในวงการสื่อสารมวลชนด้านอสังหาริมทรัพย์มากว่า 20 ปี