กลุ่มดุสิตธานีขานรับมาตรการฟื้นฟูการท่องเที่ยว หลัง ครม.อนุมัติ 3 แพ็กเกจ มั่นใจกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศและเศรษฐกิจเดินหน้าได้อีกครั้งหลังคลายล็อกดาวน์ เผยทยอยเปิดให้บริการโรงแรมเฟสแรกในเดือนมิถุนายนจำนวน 4 แห่ง เน้นบริการนักท่องเที่ยวชาวไทย ส่วนโรงแรมที่ต้องพึ่งพานักธุรกิจและนักท่องเที่ยวต่างชาติยังอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อม ย้ำความมั่นใจให้ลูกค้าด้วยมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัยภายในสัญลักษณ์ SHA พร้อมจัดเต็มโปรโมชั่นพิเศษ “Journey Together”
นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DTC เปิดเผยว่า หลังจากที่รัฐบาลคลายล็อกดาวน์ ระยะที่4 โดยคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติมาตรการฟื้นฟูการท่องเที่ยวผ่าน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการกำลังใจ โครงการเราไปเที่ยวกัน และโครงการเที่ยวปันสุข จะช่วยฟื้นฟูให้ธุรกิจท่องเที่ยวกลับมาคึกคักได้อีกครั้ง ในส่วนของกลุ่มดุสิตธานีนั้น ได้ทยอยเปิดให้บริการธุรกิจโรงแรมตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยในเฟสแรก ได้เปิดให้บริการโรงแรมในประเทศไทยที่ดุสิตธานีเป็นเจ้าของเอง จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ โรงแรมดุสิตธานี หัวหิน, โรงแรมดุสิตธานี พัทยา และโรงแรมดุสิตธานี สวีท ราชดำริ กรุงเทพฯ ส่วนโรงแรมที่กลุ่มดุสิตธานีรับบริหารหรือเป็นแฟรนไชส์ จำนวน 4 แห่ง ซึ่งได้แก่ โรงแรมดุสิตดีทู เขาใหญ่ ,โรงแรมดุสิตดีทู อ่าวนาง กระบี่, โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ รวมถึงโรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส ในกรุงเทพฯ จะทยอยกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563นี้ เป็นต้นไป
ขณะที่โรงแรมที่เหลือในส่วนดุสิตธานีเป็นเจ้าของอีก 4 แห่ง ได้แก่ โรงแรมดุสิตธานี ลากูน่า ภูเก็ต ,โรงแรมดุสิตดีทู เชียงใหม่, โรงแรมดุสิตปริ๊นเซส เชียงใหม่ และโรงแรมดุสิต ปริ๊นเซส ศรีนครินทร์ ซึ่งมีฐานลูกค้าหลักเป็นนักธุรกิจและนักท่องเที่ยวต่างชาตินั้น กำลังอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมและรอดูสถานการณ์ให้ชัดเจนอีกครั้ง โดยเฉพาะการคลายล็อกดาวน์ในระยะต่อไป ข้อจำกัดในการเดินทาง รวมถึงสถานการณ์ของ Travel Bubble ในขณะที่ร้านอาหารบ้านดุสิตธานี กลับมาเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบแล้วตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
ทั้งนี้สิ่งที่กลุ่มดุสิตธานีให้ความสำคัญมากในขณะนี้ ก็คือ การให้บริการภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยของลูกค้า ซึ่งเราได้ดำเนินการยื่นขอรับสัญลักษณ์ SHA หรือ Amazing Thailand Safety & Health Administration ซึ่งเป็นโครงการที่จัดโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กระทรวงการท่องเที่ยวฯ กระทรวงสาธารณสุข หอการค้าไทย และผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยได้ร่วมกันทำโครงการดังกล่าวขึ้น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการควบคุมโรคเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายของโรคโควิด-19 ดังนั้น ตราสัญลักษณ์ดังกล่าวจึงเป็นการรับรองคุณภาพและมาตรฐานการให้บริการของสถานประกอบการที่จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ที่จะมาใช้บริการ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ ขณะนี้โรงแรมของกลุ่มดุสิตธานีทุกแห่งในประเทศไทยต่างได้รับตราสัญลักษณ์ SHA แล้ว ซึ่งเมื่อรวมกับบริการ “ดุสิตแคร์” บริการตอบรับวิถีชีวิตแบบใหม่ที่เน้นเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยของเราด้วย ก็หวังว่า จะสามารถทำให้ลูกค้ารู้สึกสบายใจและปลอดภัยที่จะเข้าใช้บริการของโรงแรมในกลุ่มดุสิตธานีมากยิ่งขึ้น
นางศุภจี กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อเป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยวและตอบรับกับมาตรการฟื้นฟูการท่องเที่ยวของภาครัฐโดยเฉพาะโครงการ “เราไปเที่ยวกัน” กลุ่มดุสิตธานีจึงได้จัดโปรโมชั่นพิเศษด้วยแพคเกจ Journey Together with Dusit เริ่มต้นในราคาเพียง 4,000 บาทสุทธิ ซึ่งราคานี้เป็นราคาสำหรับ 2 ท่านต่อคืน รวมอาหาร 3 มื้อต่อวัน โดยลูกค้ามีสิทธิ์ที่จะรับประทานอาหารกับโรงแรมทั้ง 3 มื้อ หรือเลือกที่จะเปลี่ยนบรรยากาศจากอาหารโรงแรมเป็นรับบริการอาหารจัดส่งฟรีจากร้านอาหารพันธมิตรชื่อดังของกลุ่มดุสิตฯได้หนึ่งมื้ออีกด้วย โดยแพ็กเกจนี้สามารถทำการสำรองและเข้าพักได้ตั้งแต่วันนี้จนถึง 30 ตุลาคม 2563 ในโรงแรมและรีสอร์ทเครือดุสิตที่เข้าร่วมในประเทศไทย
อนึ่ง ดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2491 ดำเนินกิจการครอบคลุม 5 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ท ธุรกิจการศึกษา ธุรกิจอาหาร ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการต้อนรับ ธุรกิจหลักของกลุ่มได้แก่ ธุรกิจโรงแรม รีสอร์ทและวิลล่าหรู ภายใต้ 6 แบรนด์ ได้แก่ ดุสิตธานี, ดุสิตเดวาราณา, ดุสิตดีทู, ดุสิตปริ๊นเซส, อาศัย และอีลิธฮาเวนส์ ในจุดหมายปลายทางชั้นนำกว่า 300 แห่งใน 14 ประเทศทั่วโลก และธุรกิจการศึกษา ซึ่งประกอบด้วย โรงเรียนสอนประกอบการทำอาหาร วิทยาลัยการโรงแรมทั้งในประเทศไทยและฟิลิปปินส์ ในขณะที่กลุ่มธุรกิจอาหาร ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจให้บริการอื่นๆ เป็นกลุ่มธุรกิจใหม่ที่บริษัทเพิ่งเริ่มกระจายการลงทุนไม่กี่ปีที่ผ่านมา ตามแผนกลยุทธ์การเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว ที่ประกอบด้วย 3 ด้านได้แก่ การสร้างความสมดุล การเติบโต และการกระจายความเสี่ยง