“อาคม เติมพิทยาไพสิฐ “ ประชุมมอบนโยบายกระทรวงการคลังการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วนภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่เหมาะสม รับเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก และความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีค่อนข้างมาก พร้อมเร่งรัดการเบิกจ่ายงบฟื้นฟูเศรษฐกิจภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็วที่สุด
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลังเพื่อมอบนโยบายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยรับทราบการรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2563 และแนวโน้มของเศรษฐกิจในปี 2564 โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะภาคการส่งออก ภาคบริการ และการท่องเที่ยว โดยคาดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ภาครัฐจะต้องเพิ่มการใช้จ่ายเพื่อเยียวยาและช่วยเหลือประชาชนกลุ่มต่างๆ อย่างเร่งด่วนเพิ่มขึ้น นับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งในการดำเนินนโยบายการคลัง ที่จะต้องบริหารจัดการให้อยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่เหมาะสม โดยจะต้องมีความระมัดระวังเพิ่มขึ้นในเรื่องการประมาณการตัวเลขทางเศรษฐกิจต่างๆ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก และความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีค่อนข้างมาก
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวถึงนโยบายการคลังที่จะเน้นการประสานนโยบายและมาตรการภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังอย่างยั่งยืน (Fiscal Sustainability)
(1) ในระยะสั้นจะให้ความสำคัญกับการบริหารภาพรวมเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวโดยเร็ว ได้แก่ การขับเคลื่อนมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบตามมติของคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากการระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนา 2019 โดยเฉพาะเรื่องเร่งด่วน คือ การกระตุ้นการบริโภค และการลงทุนภายในประเทศ รวมถึงการแก้ไขปัญหาการขาดสภาพคล่องของภาคธุรกิจต่างๆ
(1.1) การแก้ไขปัญหาสภาพคล่องของทั้งภาคธุรกิจเอกชนและภาคประชาชน โดยเฉพาะกลุ่ม SME เช่น มาตรการ Soft loan การเร่งรัดการปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงมาตรการการพักชำระหนี้ในระยะต่อไป โดยกระทรวงการคลังต้องประสานธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อกำหนดมาตรการที่เหมาะสมในระยะต่อไป
(1.2) การเพิ่มกำลังซื้อของประชาชนในกลุ่มต่างๆ ผ่านมาตรการกระตุ้นการบริโภคที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไปแล้ว เช่น การให้เงินช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และโครงการคนละครึ่ง ควรเร่งรัดให้เป็นไปตามเป้าหมาย เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ภายใต้กรอบระยะเวลาที่กำหนด
(1.3) มาตรการรองรับปัญหาการว่างงานอันเกิดจากวิกฤตโควิด-19 โดยต้องพยายามให้เอกชนรักษาการจ้างงานขององค์กรไว้ให้ได้มากที่สุด โดยขณะนี้รัฐบาลได้อนุมัติโครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่โดยภาครัฐและเอกชนไว้แล้ว
(1.4) การสร้างความเข้มแข็งฐานะการคลังอย่างยั่งยืน ดูแลกระแสเงินสดของภาครัฐ ให้เพียงพอต่อการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยให้ความสำคัญกับการจัดเก็บรายได้ ให้ได้ตามเป้าหมาย รวมทั้งการหารายได้เพิ่มจากรายได้ที่ไม่ใช่ภาษี (Non-tax revenue) จากทรัพย์สินของรัฐ รายได้จากรัฐวิสาหกิจ รวมถึงเงินนอกงบประมาณต่างๆ ที่ไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้ ควรต้องนำกลับมาช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของรัฐบาล
(1.5) เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณในปี 2564 ทั้งงบประมาณรายจ่ายและงบลงทุนโดยเฉพาะงบการจัดประชุมสัมมนาในต่างจังหวัดซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคได้ รวมถึงการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบฟื้นฟูเศรษฐกิจภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้ว เพื่อเร่งนำเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็วที่สุด
(2) สำหรับมาตรการระยะปานกลาง เป้าหมายคือการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและดูแลให้เศรษฐกิจไทยสามารถกลับมาเติบโตได้ตามศักยภาพหลังจากวิกฤตโควิด-19 โดยให้ความสำคัญในการปรับโครงสร้างการคลังของประเทศทั้งในส่วนของรายได้และรายจ่าย เช่น การจัดเก็บภาษี E-commerce, Online-trade และ E-logistics เป็นต้น โดยมีประเด็นเร่งด่วน คือ การเตรียมมาตรการฟื้นฟูหลังเศรษฐกิจเปิด (Reopening economy) ทั้งมาตรการด้านการเงินการคลังเพื่อรองรับการดำเนินการดังกล่าว และการเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติที่ได้รับการอนุมัติแล้ว รวมทั้งการจัดแหล่งเงินลงทุน (Financing infrastructure) ที่เหมาะสม เพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการ เพื่อขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐในระยะต่อไป
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้มอบนโยบายในการทำงานแก่ผู้บริหารกระทรวงการคลังดังนี้
(1) ต้องมุ่งเน้นหลักธรรมาภิบาลและความโปร่งใส กระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานที่ดูแลรายรับ รายจ่ายและงบการเงินของประเทศ จึงต้องมีมาตราฐานการเงินการคลังตามมาตรฐานสากล จะต้องตรวจสอบได้และมีความโปร่งใส
(2) จะต้องรอบคอบภายใต้กรอบวินัยการคลังของประเทศ และกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง
(3) จะต้องประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะหน่วยงานด้านการคลัง ด้านการเงิน ด้านตลาดทุน ที่ดูแลด้านปฏิบัติ ด้านกำกับดูแล ด้านนโยบายในภาพรวม ส่วนในระดับมหภาคหรือในภาพรวมต้องหารืออย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารเศรษฐกิจมหภาค ได้แก่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ และธนาคารแห่งประเทศไทย