ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)จัดงานสัมมนา “ตลาดที่อยู่อาศัย ภาคตะวันออก 3 จังหวัด EEC ก้าวต่อไป สู่ปี 2564” ขึ้นเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2563 โดยได้รับเกียรติจากนางพจนี อรรถโรจน์ภิญโญ รองเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกกล่าวปฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ความก้าวหน้าการพัฒนาโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)” เพื่อเปิดเผยถึงการเดินหน้าและพัฒนาพื้นที่อีอีซี ภายใต้งบประมาณปี 2564 กว่า 2.1 หมื่นล้านบาท ด้าน REIC คาดตลาดอสังหาฯภาคตะวันออก 3 จังหวัด อีอีซี ปี 2564 มีหน่วยเหลือขายสะสมทั้งปีจำนวน 73,889 ยูนิต มูลค่า 257,627 ล้านบาท รอภาครัฐส่งสัญญาณบวกกระตุ้นตลาดอสังหาฯ
นางพจนี อรรถโรจน์ภิญโญ รองเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยว่า งบประมาณในการขับเคลื่อนพื้นที่ EEC ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในปี 2564 ได้รับอนุมัติจำนวน 21,489,515,500 บาท เพื่อพัฒนาให้เป็นไปตามแผนภาพรวมของ EEC โดยวางบทบาทพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา เมืองน่าอยู่ ศูนย์กลางโลจิสติกส์ เชื่อมโยงกับเพื่อนบ้าน จังหวัดชลบุรี เมืองท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ ศูนย์กลางการเงิน การวิจัย และการพัฒนาภายในระยะเวลา 10 ปี จังหวัดระยอง เมืองนวัตกรรมผ่านการวิจัย พัฒนาและการท่องเที่ยวภายใต้การดำเนินงาน 6 แนวทาง ประกอบด้วย
แนวทางที่ 1 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภค โดยใช้งบประมาณ 17,225,119,800 บาท คิดเป็น 80.16 %
แนวทางที่ 2 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ใช้งบประมาณ 81,070,000 บาท คิดเป็น 0.38 %
แนวทางที่ 3 การพัฒนาและส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยว ใช้งบประมาณ 96,978,000 บาท คิดเป็น 0.45 %
แนวทางที่ 4 การพัฒนาบุคลากร การศึกษา การวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม ใช้งบประมาณ 3,029,118,700 บาท คิดเป็น 14.10 %
แนวทางที่ 5 การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ สิ่งแวดล้อม สาธารณสุข ใช้งบประมาณ 961,743,800 คิดเป็น 4.48 %
แนวทางที่ 6 การพัฒนา ประชาสัมพันธ์ และส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ใช้งบประมาณ 95,481,500 บาท คิดเป็น 0.44 %
ในปี 2564 สำนักงานกิจการอีอีซีมีแผนพัฒนาเพื่อเดินหน้าโครงการการพัฒนาเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ จากการพัฒนาพื้นที่เมืองเดิมและการพัฒนาจากพื้นที่โล่ง(การเกิดเมืองใหม่) รวมทั้งการพัฒนาเมืองใหม่ พื้นที่เขตส่งเสริม ตลอดจนการพัฒนาบุคลากร ชุมชน การศึกษา และสาธารณสุขที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในพื้นที่อีอีซี
ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) คาดการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยภาคตะวันออก (EEC) ภาพรวมตลาดมีแนวโน้มจำนวนหน่วยเหลือขายเพิ่มขึ้นจากปี 2563 ประมาณการหน่วยเหลือขายครึ่งแรกปี’64 จำนวน 71,555 ยูนิต มูลค่า 249,491 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นในครึ่งหลังปี 2564 จำนวน 73,889 หน่วย มูลค่า 257,627 ล้านบาท หน่วยขายได้ใหม่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ครึ่งหลังปี 2563 แต่ยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในระยะเวลา 5 Half รอบสำรวจ ซึ่งมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 10,773 ยูนิต โดยคาดการณ์หน่วยขายได้ใหม่สะสมทั้งปี 2564 จำนวน 9,162 ยูนิต มูลค่ารวม 28,389 ล้านบาท เมื่อพิจารณาถึงอัตราการดูดซับบ้านจัดสรรอยู่ในระดับค่าเฉลี่ยประมาณที่อัตรา 2.2% ขณะที่อาคารชุดมีอัตราการดูดซับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอัตราเพียง 1.2% ขณะที่ค่าเฉลี่ยอัตราการดูดซับอาคารชุดอยู่ที่ 2.1%
ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคาร และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า จังหวัดชลบุรีอัตราการขายยังคงสามารถดำเนินต่อไปได้ แต่หากมีการเติมซัพพลายของผู้ประกอบการเข้าไปจะส่งผลให้สต๊อกบวมขึ้น ประมาณการจำนวนหน่วยเหลือขายสะสมทั้งปี 2564 จำนวน 51,379 ยูนิต มูลค่ารวมกว่า 198,498 ล้านบาท ขณะที่หน่วยขายได้ใหม่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในปี 2564 มีจำนวนสะสมทั้งปี 5,702 ยูนิต มูลค่า19,542 ล้านบาท แต่ยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ประมาณการไว้ ในขณะที่ค่าเฉลี่ยจำนวน 7,084 ยูนิต หน่วยขายได้ใหม่จะเริ่มกลับมาเป็นบวกตั้งแต่ครึ่งหลังปี 2564 และมีแนวโน้มดีขึ้นไปจนถึงปี 2565 จำนวนการโอนกรรมสิทธิ์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องกลับมาเป็นตั้งแต่ครึ่งแรกของปี 2564 ในอัตรา 111.7% จำนวน 27,920 ยูนิต มูลค่ารวม 30,984 ล้านบาท เมื่อพิจารณาถึงอัตราการดูดซับบ้านจัดสรรอยู่ในเกณฑ์ปกติที่ค่าเฉลี่ย 2.2% อัตราการดูดซับของอาคารชุดเพียง 1% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย โดยมีค่าเฉลี่ยอัตราการดูดซับที่ 2.0%
จังหวัดระยองจำนวนหน่วยเหลือขายเพิ่มขึ้นเล็กน้อย คาดการณ์มีจำนวนหน่วยเหลือขายสะสมทั้งปี 2564 จำนวน 16,421 ยูนิต มูลค่ารวม 41,631 ล้านบาท จำนวนหน่วยเหลือขายอยู่ในอัตราที่ต่ำ อัตราการดูดซับสูงโดยมีอัตราการดูดซับ 2.2% ขณะที่หน่วยโอนกรรมสิทธิ์มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นกลับมาเป็นบวกตั้งแต่ครึ่งแรกปี 2564 โดยมีจำนวนหน่วยโอนกรรมสิทธิ์รวมทั้งปีจำนวน 6,156 ยูนิต มูลค่ารวม 7,835 ล้านบาท
จังหวัดฉะเชิงเทราประมาณการหน่วยเหลือขายสะสมปี 2564 จำนวน 6,089 ยูนิต มูลค่ารวม 17,498 ล้านบาท ขณะที่การโอนกรรมสิทธิ์มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ครึ่งหลังปี2563 แต่ยังคงติดลบจะกลับมาเป็นบวกในช่วงครึ่งหลังปี2564 เมื่อพิจารณาถึงอัตราการดูดซับบ้านจัดสรรมีอัตราการดูดซับในเกณฑ์ปกติที่ 2.3% คอนโดมิเนียมมีอัตราการดูดซับ 1.7% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ 2.9%
การคาดการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยภาคตะวันออก EEC ในปี 2564 ยังคงรอคอยมาตรการจากภาคภาครัฐที่จะเข้ามาเสริมเป็นปัจจัยบวกเพื่อกระตุ้นและส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในตลาดที่อยู่อาศัยพื้นที่ EEC ซึ่งจะส่งผลดีให้ตลาดมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างรวดเร็ว