แสนสิริสร้างประวัติศาสต์โอนปี 63 ทะลุ 45,000 ล้านบาท ทุบทุกสติถิสูงสุดที่เคยทำได้ในรอบ 36 ปี ปิดการขายโครงการที่อยู่อาศัยไปถึง 35 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 64,600 ล้านบาท เผยกลยุทธ์ความแข็งแกร่ง ปรับแผนรับมือสถานการณ์ต่อเนื่อง สวนกระแสเศรษฐกิจ-โควิด-19 กำพรีเซลแบ็คล็อกในมืออีกกว่า 24,000 ล้านบาท รองรับความแข็งแกร่งในทุกสภาวการณ์
นายอุทัย อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI เปิดเผย ว่า ในปี 2563 ที่ผ่านมา นับว่าแสนสิริประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจภายใต้สภาวเศรษฐกิจและสถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยได้รับการตอบรับที่ดีจากกลุ่มลูกค้าทั้งในด้านการขายและโอนโครงการ สามารถสร้างผลงานปิดการขายโครงการที่อยู่อาศัยไปถึง 35 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 64,600 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทยังมีผลงานการโอนที่โดดเด่นทั้งในแนวราบและแนวสูง สะท้อนการบริหารจัดการสต๊อกที่อยู่อาศัยที่ดี โดยบริษัทมียอดโอนโครงการที่อยู่อาศัยทุกประเภทที่สร้างเสร็จสมบูรณ์และส่งมอบให้กับลูกค้าไปถึง 45,000 ล้านบาท เกินจากเป้าหมายใหม่ที่มีการปรับล่าสุดในช่วงปลายปี คือ 43,000 ล้านบาท หลังจากมีการปรับเป้า โอนเพิ่มขึ้นถึง 4 รอบในรอบปีที่ผ่านมา สร้างประวัติศาสต์การโอนที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ของแสนสิริ และทุบทุกสถิติการโอนที่เคยทำได้สูงสุด ในรอบ 36 ปี และโตขึ้นจากปีก่อนถึง 45%
ทั้งนี้แบ่งเป็นยอดโอนจากโครงการคอนโดมิเนียมสูงถึง 25,500 ล้านบาท โตจากปีก่อนถึง 50% และยอดโอนโครงการแนวราบ 19,500 ล้านบาท โตขึ้น 39% จากปีก่อน ผลงานมาจากการปิดการขายและโอนโครงการภายใต้พอร์ต Sansiri Luxury Collection ด้วยกันถึง 3 โครงการ คือ 98 Wireless แฟล็กชิพคอนโดมิเนียมซูเปอร์ลักชัวรี่,บ้านแสนสิริ พัฒนาการ แฟล็กชิพบ้านเดี่ยวระดับซูเปอร์ลักชัวรี่, เดอะ โมนูเมนต์ ทองหล่อ ลักซ์ชัวรี่คอนโดมิเนียมใจกลางย่านทองหล่อ และโครงการลักซ์ชัวรี่แนวราบ ได้แก่ ไทเกอร์ เลน ลักชัวรี่โฮมออฟฟิศบนที่สุดของทำเลทอง ไพร์มโลเคชั่นตำแหน่งฮวงจุ้ยท้องมังกร ที่หายากใจกลางย่านเสือป่า เยาวราช และปิดการขายโครงการบ้านเดี่ยวนาราสิริ บางนา และ นาราสิริ พุทธมณฑล สาย 1 เป็นต้น
“ความสำเร็จจากการดำเนินธุรกิจในปีที่ผ่านมา มาจากความพร้อมด้วยแผนปรับเปลี่ยนรับมือสถานการณ์ตลาดตลอดเวลา นอกจากนี้ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 แสนสิริยังมีการดำเนินธุรกิจเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ด้วยกลยุทธ์ “Speed to Market” เพื่อแข่งขันกับสภาพตลาด ขยับและเดินเกมส์เร็วนำหน้าคู่แข่งด้วยกลยุทธ์การตลาดที่แข็งแกร่ง นำเสนอโปรโมชั่นที่ตอบโจทย์ตรงใจลูกค้า และการรุกการขายในทุกช่องทาง ผ่าน Multi-channel เพื่อตอบโจทย์คนอยากมีบ้านในยุคโควิดในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้แสนสิริได้รับการตอบรับจากกลุ่มลูกค้าเป็นอย่างดี รวมถึงการบริหารเงินสดในมือที่ดี (Cash is King) ด้วยการกำสภาพคล่องในมือถึง 15,000 ล้านบาท ส่งผลให้แสนสิริเป็นองค์กรที่มีสภาพคล่องสูง มีกระแสเงินสดที่มีความพร้อมในการดำเนินธุรกิจ มีความมั่นคงด้านการเงินจากการบริหารองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้มียอดขายและยอดโอนที่ดีสวนสภาวะตลาด” นายอุทัย กล่าว
นอกจากนี้ยอดขายและยอดโอนที่ประสบความสำเร็จยังมาจากความแข็งแกร่งของแสนสิริ ในการเป็นแบรนด์ที่เข้าถึงได้ในทุกระดับราคา สะท้อนความเชื่อมั่นในการเป็นแบรนด์อันดับหนึ่งของคนอยากมีบ้านด้วยมาตรฐานการออกแบบและคุณภาพโครงการ ตลอดจนบริการหลังการขายหรือ Sansiri Service ที่สามารถครองใจผู้บริโภคจากการเป็นผู้นำด้านการบริการในที่อยู่อาศัย และความมั่นใจสูงสุดด้านความปลอดภัยจาก LIV-24 ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญอันดับหนึ่งที่ทำให้กลุ่มลูกค้าเลือกแสนสิริ
“ทั้งนี้ในระยะยาว บริษัทยังมียอดขายรอโอน (Backlog) (รวมโครงการร่วมทุนในคอนโดมิเนียม) มูลค่ารวมประมาณ 24,000 ล้านบาท แบ่งเป็นยอดขายรอโอนจากโครงการภายใต้การพัฒนาของแสนสิริ 19,800 ล้านบาท และยอดขายรอโอนจากโครงการภายใต้การร่วมทุนอีก 4,200 ล้านบาท ที่จะทยอยรับรู้ไปจนถึงปี 2566 ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้แสนสิริเป็นอย่างดีและเสริมความแข็งแกร่งในทุกสภาวะเศรษฐกิจ” นายอุทัย กล่าวในที่สุด