ซี.พี.แลนด์.รับโควิด-19 กระทบอุตสาหกรรมโรงแรมต่อเนื่อง หั่นราคาเข้าพักถึง 50% แนะรัฐหามาตรการกระตุ้นปากท้องประชาชน ด้านการผุดรร.ขนาดเล็กพื้นที่ตจว.ยังเป็นตามแผนปี64 จำนวน 5-10 แห่ง มูลค่าลงทุน 1,000 ล้านบาท ทั้งเล็งไล่ช็อปโฮเทลขนาดสภาพคล่องแต่มีศักยภาพเสริมพอร์ตสร้างความแกร่ง ล่าสุดปรับกลยุทธ์รูปแบบ“FOOD DELIVERY” และการขาย “Street Food” สู้วิกฤติ นำร่องรร.ในเครือ 8 แห่ง
นายสุนทร อรุณานนท์ชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร โรงแรมในเครือฟอร์จูน บริษัท ซี.พี.แลนด์ จำกัด(มหาชน) หรือ CPLAND เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของวิกฤติโควิด-19 ระลอกใหม่ ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง โดยโรงแรมถือเป็นหนึ่งธุรกิจสำคัญของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่ได้รับผลกระทบในลำดับต้นๆ โดยจากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่ามีธุรกิจโรงแรมที่เสี่ยงจะปิดกิจการ ประมาณ 20% ทั่วประเทศ(หรือประมาณ 3,700 แห่ง) ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ ภูเก็ต ,กรุงเทพฯ ,พัทยา และกระบี่เป็นต้น แต่หากโควิด-19 ลากยาว กลุ่มนี้จะมีความเสี่ยงที่อาจต้องปิดกิจการเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 28-32% “จากสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้โรงแรมซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ต่อปีอย่างมหาศาลได้รับผลกระทบและเชื่อมโยงเป็นลูกโซ่ไปยังธุรกิจอื่นอีกมากมาย อีกทั้งขณะนี้เป็นธุรกิจที่สถาบันการเงินมีความกังวลในเรื่องหนี้สินมากที่สุด ซึ่งผมอยู่ในธุรกิจนี้มากว่า 50 ปี ก็เพิ่งประสบปัญหาดังกล่าว ซึ่งเป็นเหมือนกันทั่วโลก โดยในส่วนของกลุ่ม CPLAND เองยอมรับว่าในปี 2563 ประสบปัญหาในการขาดทุนในธุรกิจโรงแรมเป็นครั้งแรก จากปี 2562 ที่มีผลกำไรไม่เกิน 1,000 ล้านบาท โดยในช่วงที่ผ่านมาได้ปรับลดราคาการเข้าพักลงถึงประมาณ 50% แต่เราก็ไม่เคยคิดปิดกิจการโรงแรม อาจจะมีการปิดให้บริการในบางพื้นที่ของโรงแรมเท่านั้น โดยปัจจุบันมีโรงแรมในเครือทั้งหมด 12 แห่ง โดยเป็นในกทม.1 แห่ง และต่างจังหวัด 11 แห่ง”นายสุนทร กล่าว นายสุนทร กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ที่ผ่านมาภาครัฐจะหามาตรการต่างๆมาช่วยเหลือประชาชน แต่ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะหนี้สินครัวเรือนยังเพิ่มมากขึ้นอีกเป็นเท่าตัว จึงอยากให้รัฐบาลหามาตรการในการเพิ่มศักยภาพในการทำมาหากินของประชาชนให้มากขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามแม้ว่าธุรกิจโรงแรมจะประสบปัญหาการขาดทุนในปีที่ผ่าน และต่อเนื่องมาในปี2564 แต่แผนการลงทุนพัฒนาโรงแรมใหม่ในจังหวัดที่เป็นหัวเมืองท่องเที่ยวหลักและหัวเมืองรอง ประมาณ 5-10 แห่ง ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด โดยจะเป็นการนำที่ดินของCPLAND ที่ยังมีอยู่มาพัฒนาก่อน แต่หากในบางทำเลในบางจังหวัดที่ยังไม่มีที่ดิน แต่มีศักยภาพ ก็สนใจที่จะซื้อที่ดินแปลงใหม่มาพัฒนา โดยจะพัฒนาเป็นโรงแรมขนาดเล็กแบรนด์“ฟอร์จูน ดี” ขนาดประมาณ 79 ห้องพัก คิดเป็นมูลค่าการลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท หรือมูลค่าการลงทุนไม่เกิน 1.2 ล้านบาท/ห้อง ซึ่งในเบื้องต้นจะเป็นการนำที่ดินสะสมที่มีอยู่แล้ว 4 แปลงใน 4 จังหวัด มาพัฒนาก่อน ได้แก่ 1.ขอนแก่น 2.มุกดาหาร 3.หนองคาย 4.นครพนม(ที่ดินแปลงตรงข้ามโรงแรมฟอร์จูน ริเวอร์ริว นครพนม)
นอกจากนี้ยังสนใจเข้าไปพัฒนาในพื้นที่ อ.เชียงคาน จ.เลย รวมไปถึง จ.สุราษฎร์ธานี และหาดใหญ่ จ.สงขลา อีกด้วย ซึ่งได้มีการนำเสนอให้บอร์ดบริษัทฯพิจารณา คาดว่าจะสามารถสรุปผลได้ในเร็วๆนี้ อีกทั้งยังสนใจที่จะเข้าไปซื้อกิจการโรงแรมที่ผู้ประกอบการประกาศขายเนื่องจากขาดสภาพคล่องทางการเงิน แต่ทั้งนี้ต้องเป็นโรงแรมที่มีศักยภาพและไม่ต้องใช้เม็ดเงินในการรีโนเวทมากนัก มิเช่นนั้นจะไม่คุ้มค่ากับการลงทุน
“เราต้องยอมรับว่า ณ วันนี้ธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปทุกอย่าง แต่เราต้องอย่าตกใจ เมื่อเจอปัญหาก็ต้องแก้ไข แต่อะไรที่ทำไม่ได้ก็อย่าฝืน และทุกอย่างที่ทำจะต้องคุ้มทุนในระยะเวลาที่เรารับได้โดยมองว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โรงแรมในต่างจังหวัดยังสามารถพัฒนาและดำเนินการได้ดีกว่าในพื้นที่กทม. และเมื่อทุกอย่างดำเนินการไปตามแผน และสถานการณ์ต่างๆคลี่คลาย เราก็จะกลับมาพัฒนาโรงแรมในพื้นที่กทม.หรือรอบ กทม.เพิ่มเติมเป็นลำดับถัดไป ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทฯมีการลงทุนอย่างระมัดระวัง ทำให้มีหนี้สินในสัดส่วนที่น้อยขณะที่สถาบันการเงินเปิดวงเงินรองรับหากบริษัทฯจะขอสินเชื่อเพื่อลงทุนในอนาคต โดยปัจจุบันมีทุนจดทะเบียนชำระเต็มที่แข็งแกร่ง จำนวน 3,600 ล้านบาท” นายสุนทร กล่าว
ล่าสุดบริษัทฯได้ปรับกลยุทธ์รับมือกับวิกฤติโควิด-19 ด้วยการดำเนินการในรูปแบบ“FOOD DELIVERY” และการขาย“Street Food” ของทุกโรงแรมในเครือฟอร์จูน กรุ๊ป ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่ไม่ จำเป็นต้องรอเวลาแต่สามารถทำได้ทันทีและจะสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคในอนาคตกับการสั่งอาหาร Online มากยิ่งขึ้นถือเป็นอีกหนึ่งทางการหารายได้ของโรงแรมในอนาคตและจากที่โรงแรมมีการปรับตัวด้าน อาหารและเครื่องดื่ม ที่น่าสนใจคือผู้บริหารและพนักงานร่วมกันสร้างสรรค์เมนูอาหารต่างๆ เพื่อสร้างเอกลักษณ์จากอาหาร “Street Food” ของทุกโรงแรมในเครือฟอร์จูน ออกมาจำหน่ายให้กับบุคคลทั่วไปในคุณภาพ วัตถุดิบและรสชาติระดับโรงแรม ในราคาที่จับต้องได้ โดยในเบื้องต้นได้ดำเนินการรูปแบบดังกล่าวใน 8 โรงแรมหลักที่มีศักยภาพและอยู่ใกล้แหล่งทำงาน–ชุมชน ได้แก่
1.โรงแรม แกรนด์ เมอร์เคียว ฟอร์จูนกรุงเทพ
2.โรงแรมแกรนด์ ฟอร์จูน นครศรีธรรมราช
3.โรงแรมฟอร์จูน ริเวอร์วิว นครพนม
4.โรงแรมฟอร์จูน วิวโขง นครพนม
5.โรงแรมฟอร์จูน ริเวอร์วิว เชียงของ
6.โรงแรมฟอร์จูน โคราช
7.โรงแรมฟอร์จูนแสงจันทร์ บีช ระยอง
8.โรงแรมฟอร์จูน คอร์ทยาร์ด เขาใหญ่
“ที่ผ่านมาได้รับผลตอบรับที่ดี สามารถสร้างรายได้เพื่อหล่อเลี้ยงบุคคลากรของโรงแรมในช่วงภาวะวิกฤติเช่นนี้ โดยเฉพาะโรงแรม แกรนด์ เมอร์เคียว ฟอร์จูนกรุงเทพ สามารถสร้างรายได้ถึง 150,000 บาท/วัน ขณะที่สาขาต่างจังหวัดจะทำรายได้ประมาณ 20,000-30,000 บาท/วัน และที่น่าสนใจคือ “Street Food” โรงแรมฟอร์จูน โคราช นั้นขายดีมากโดยเฉพาะเมนู ปาท่องโก๋ หรือ “ฟอร์จูนปาท่องโก๋ ” ซึ่งเป็นสูตรที่ทางโรงแรมได้คิดค้น ขึ้นมาเอง โดยการผสมผสานระหว่างแป้ง และเมล็ดธัญพืชถึง 6 ชนิดด้วยกัน ถือเป็นการสร้างเอกลักษณ์และสร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้าของโรงแรมอีกอย่างหนึ่ง ว่ามาพักโรงแรมในเครือฟอร์จูน ต้องได้รับประทาน “ฟอร์จูน ท่องโก๋” และในอนาคตได้มีแผนการต่อยอดธุรกิจด้วยการขายผ่านระบบแฟรนไชส์อีกด้วย”นายสุนทร กล่าวในที่สุด