“ศักดิ์สยาม ชิดชอบ”เร่งขับเคลื่อนประเทศหลังทยอยฉีดวัคซีนให้เป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของภูมิภาคอาเซียนตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ทั้งสอดรับนโยบายเปิดประเทศ ภายใน 120 วัน “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เดินหน้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมทั้ง 4 ช่องทาง บก อากาศ ราง และทางน้ำ หวังสร้างงาน-รายได้ให้กับประชาชน ส่งเสริมการท่องเที่ยว การส่งออก และการลงทุนของภาคเอกชน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ปาฐกถาพิเศษ ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์มติชนจัดสัมมนารูปแบบไลฟ์สตรีมมิงผ่านเฟซบุ๊ก ภายใต้หัวข้อ “EMPOWERING THAILAND 2021 เคลื่อนอนาคตไทยด้วยการลงทุน” ว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคเชื้อไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2562 ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกเกิดภาวะชะงักงัน กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้วิเคราะห์ผลกระทบจากการแพร่ระบาดทำให้เศรษฐกิจโลกหดตัวลง และคาดการณ์ว่าในปีนี้เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 6% เนื่องจากมีวัคซีนในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 กระทรวงคมนาคมมีแผนการขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของภูมิภาคอาเซียน เพื่อให้การคมนาคมขนส่งของประเทศมีความสะดวก ปลอดภัย และรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งทางราง เพื่อลดต้นทุนการขนส่งของประเทศ และการเตรียมความพร้อมการคมนาคมขนส่งทางอากาศรองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยว ตามนโยบายของรัฐบาลที่จะเปิดประเทศ ภายใน 120 วัน หรือ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” (Phuket Sandbox) สำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง กระทรวงฯ ได้วางแผนการใช้งบประมาณจากแหล่งเงินทุนต่าง ๆ เพื่อให้ประเทศสามารถขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาด้านคมนาคมต่อไปได้ ซึ่งมี เมกะโปรเจกต์หลายโครงการที่เป็นเครื่องจักรสำคัญในการพัฒนาประเทศ เพื่อพลิกเศรษฐกิจให้สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยรัฐบาลภายใต้การบริหารงานของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) กระทรวงฯ จึงได้เร่งรัดพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ EEC ซึ่งจะทำให้เกิดนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ กระตุ้นจ้างงาน กระจายรายได้ให้กับประชาชน อาทิ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และโครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 เป็นต้น
ส่วนโครงการสำคัญที่จะดำเนินการในอนาคต เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มีดังนี้
1.การคมนาคมขนส่งทางอากาศ ขณะนี้มีการจองตารางการบิน (Slot) ไว้แล้วกว่า 80 – 90% ซึ่งการท่องเที่ยวเป็นรายได้หลักของประเทศ กระทรวงฯ ได้เตรียมความพร้อมของท่าอากาศยานระหว่างประเทศเพื่อรองรับจำนวนผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้น โดยได้จัดทำแผนการพัฒนาการขนส่งทางอากาศของประเทศไทยระยะ 15 ปี และได้เร่งรัดการซ่อมบำรุงและเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของท่าอากาศยาน ดังนี้
– การพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ก่อสร้างทางวิ่ง (รันเวย์) เส้นที่ 3 รวมถึงการขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศเหนือ และอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก เพื่อรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น
– การพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ปรับปรุงอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 และหลังที่ 3 และปรับปรุงทางขับ (Taxi way) เพื่อให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 40 ล้านคนต่อปี ในปี 2570
– การพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา ให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 15.9 ล้านคนต่อปี ในปี 2567
– การพัฒนาท่าอากาศยานภูมิภาคที่สำคัญ ดำเนินการแล้วเสร็จ ได้แก่ ท่าอากาศยานแม่สอด นครพนม สกลนคร และอยู่ระหว่างการดำเนินการ ได้แก่ ท่าอากาศยานขอนแก่น บุรีรัมย์ เบตง กระบี่ ตรัง และนครศรีธรรมราช
2.การคมนาคมขนส่งทางบก ได้จัดทำแนวทางการบูรณาการระหว่างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและทางรถไฟทั่วประเทศ (Motorway and Railway) หรือ MR-MAP กำหนดแนวเส้นทางร่วมรถไฟทางคู่และมอเตอร์เวย์ที่เป็นไปได้ไว้เบื้องต้น 9 เส้นทาง รวมระยะทางประมาณ 5,000 กิโลเมตร แบ่งเป็นแนวเหนือ – ใต้ 3 เส้นทาง และแนวตะวันออก – ตะวันตก 6 เส้นทาง และได้คัดเลือกโครงการนำร่อง (Pilot Project) เพื่อพัฒนา MR-MAP ในระยะแรก จำนวน 4 เส้นทาง ได้แก่ 1) ชุมพร – ระนอง หรือโครงการ Land Bridge เพื่อเชื่อมให้ประเทศไทยเป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าทางเรือของโลก 2) EEC – Land Bridge – BIMSTEC เพื่อเชื่อมฐานการผลิตจาก EEC เข้าสู่ Land Bridge เพื่อส่งออกไปยังประเทศในกลุ่ม BIMSTEC 3) EEC – โคราช เพื่อกระจายสินค้าจาก EEC เข้าสู่พื้นที่ภาคอีสาน และเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และ 4) วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ รอบที่ 3 เพื่อเป็นเส้นทางใหม่ในการขนส่งสินค้า ลดปัญหาการขนส่งผ่านพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ
3.การคมนาคมขนส่งทางราง มีแผนพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งทางราง ดังนี้
– แผนพัฒนารถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (Urban Mass Transit) เพื่อเพิ่มความสะดวกในการเดินทางและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 14 เส้นทาง ล่าสุดเปิดให้บริการแล้ว 2 เส้นทาง คือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต และโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) ช่วงเตาปูน – ท่าพระ ทั้งนี้มีกำหนดการที่จะเปิดให้บริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน – บางซื่อ – รังสิต ให้ประชาชนได้ทดลองใช้ฟรีในเดือนกรกฎาคม 2564 และคาดว่าจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบได้ช่วงปลายปีนี้
– การพัฒนารถไฟทางคู่ทั่วประเทศ การดำเนินการระยะเร่งด่วน ก่อสร้างแล้วเสร็จ 2 เส้นทาง ได้แก่ ชุมทางฉะเชิงเทรา – คลองสิบเก้า – แก่งคอย และชุมทางถนนจิระ – ขอนแก่น และอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 5 เส้นทาง โดยมีเป้าหมายจะผลักดันให้มีการขนส่งทางรางเพิ่มเป็น 30% และเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุน
– การจัดตั้งบริษัท รถไฟพัฒนาสินทรัพย์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อดูแล บริหาร และพัฒนาสินทรัพย์ของ รฟท. ให้มีรายได้เข้าสู่ประเทศมากขึ้น
– การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนเมืองหลักในภูมิภาค เช่น เชียงใหม่ พิษณุโลก ภูเก็ต อุดรธานี ขอนแก่น นครราชสีมา และหาดใหญ่ ในระยะแรกจะเป็นรถเมล์ไฟฟ้า และหากเมืองมีการเติบโตมีจำนวนผู้โดยสารในระบบมากขึ้น มีแผนจะเปลี่ยนมาเป็นระบบรถไฟฟ้าต่อไป
– รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เส้นทางดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา ระยะทาง 220 กิโลเมตร คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2571
4.การคมนาคมขนส่งทางน้ำ กระทรวงฯ ได้กำหนดแผนงานโครงการสำคัญทางน้ำ เพื่อสนับสนุนให้มีสัดส่วนการขนส่งทางน้ำเพิ่มมากขึ้น รวมถึงพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยทางน้ำเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว ดังนี้
– การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ให้สามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าผ่านท่ารวมกันได้ประมาณปีละ 18.0 ล้านตู้ต่อปี โดยมีแผนการเปิดให้บริการในปี 2568
– การศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมให้มีการพัฒนาการขนส่งสินค้าทางน้ำและลดต้นทุนการขนส่งโลจิสติกส์
– โครงการ Land Bridge เพื่อเชื่อมโครงข่ายคมนาคมและการขนส่งสินค้าระหว่างทะเล ฝั่งอ่าวไทย – อันดามัน โดยการสร้างท่าเรือน้ำลึกทั้ง 2 ฝั่งของคอคอดกระ และเชื่อมต่อการขนถ่ายสินค้าระหว่าง 2 ฝั่งโดยถนนและระบบราง รวมทั้งเชื่อมต่อไปยังพื้นที่ EEC พร้อมนำเทคโนโลยีออโตเมชันเข้ามาช่วยในการขนย้ายสินค้าให้มีความรวดเร็วและประหยัดเวลา
นายศักดิ์สยาม กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งหมดนี้เป็นแผนงานโครงการของกระทรวงฯ ที่จะช่วยขับเคลื่อนอนาคตของประเทศไทยผ่านการลงทุนภาครัฐ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชน ส่งเสริมการท่องเที่ยว การส่งออก และการลงทุนของภาคเอกชน เพื่อให้เศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัว และเป็นกำลังสำคัญของประเทศในการพลิกโฉมประเทศไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของภูมิภาค
เครดิตภาพ : มติชนออนไลน์