ภายหลังจากที่เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศให้มีการปิดแคมป์คนงานในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ได้แก่ กรุงเทพฯ , นนทบุรี , สมุทรปราการ , ปทุมธานี , สมุทรสาคร , นครปฐม รวมไปถึงพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย สงขลา , นราธิวาส , ยะลา และ ปัตตานี ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมอบหมายให้กระทรวงแรงงานดูแลค่าใช้จ่าย เงินค่าจ้างชดเชยแก่แรงงานไทยและต่างด้าว แทนผู้ประกอบการ มาตรการดังกล่าวจะทดลองใช้เป็นระยะเวลา 15 วัน หรือ 1 เดือน ทั้งนี้ขึ้นกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะเดียวกันก็จะมีการจำกัดการเคลื่อนย้ายข้ามจังหวัด เป็นระยะเวลา 1 เดือน แต่ยังไม่ใช่การล็อกดาวน์ ไม่มีการเคอร์ฟิว ห้ามออกนอกเคหสถาน โดยเริ่มมีผลในวันจันทร์ ที่ 28 มิถุนายน 2564 นี้
ทั้งนี้คนงานจะต้องอยู่ในพื้นที่ที่จำกัดไว้ เนื่องจากที่ผ่านมาแคมป์คนงานก่อสร้างเป็นแหล่งแพร่กระจายเชื้อที่พิสูจน์ทราบได้ โดยกระทรวงแรงงานจะเข้าตรวจสอบเช็กชื่อคนงานทุกวันเพื่อทำบัญชีค่าจ้างร่วมกับตัวแทนนายจ้าง หากลูกจ้างคนใดไม่อยู่ในแคมป์ก็จะพิจารณาอีกทีเป็นรายๆ ไป เพราะการจ่ายค่าจ้างนั้นอยู่ที่นายจ้างต้องรับรองด้วย นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานจะประสานกับกระทรวงมหาดไทยเพื่อลงไปในพื้นที่และพบกับผู้ประกอบการ เพื่อทำความเข้าใจและชี้แจงมาตรการความช่วยเหลือจากรัฐบาล พร้อมกับขอความร่วมมือในการงดการเคลื่อนย้ายแรงงานทั้งหมดในเวลานี้ โดยในช่วงที่ปิดแคมป์ กระทรวงแรงงานจะมีมาตรการเยียวยาให้ร้อยละ 50 ของค่าจ้าง ซึ่งเป็นการชดเชยเยียวยากรณีว่างงาน เพราะเหตุสุดวิสัย เนื่องจากถูกปิดตามคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ซึ่งในเบื้องต้น กระทรวงแรงงานมีแผนที่จะทำรายการจ่ายเงินสดให้คนงานที่แคมป์ทุกๆ 5 วัน ตลอดช่วง 1 เดือน ตามรายชื่อที่นายจ้างรับรองวันต่อวัน ตลอดระยะเวลาที่มีการปิดแคมป์ดังกล่าว ซึ่งกระทรวงแรงงานจะมีระบบตรวจสอบว่าแรงงานที่จะได้รับการเยียวยานั้น จะต้องอยู่ในแคมป์จริงๆ
ในขณะเดียวกันกระทรวงแรงงานจะลงไปตรวจโควิด-19 เชิงรุกทุกแคมป์ที่ปิด และหากแคมป์ใดถือว่าปลอดภัยแล้วและได้รับวัคซีนในส่วน มาตรา 33 แล้ว รวมถึงคณะกรรมการร่วมระหว่างกระทรวงแรงงาน ผู้ว่าราชการจังหวัด และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ตรวจสอบแล้วว่าปลอดภัย จะดำเนินการปลดล็อกให้แคมป์นั้นกลับมาเปิดได้โดยเร็วที่สุด และอาจไม่ต้องรอให้ครบ 1 เดือน ขณะที่โครงการใดที่มีสัญญากับรัฐหรือเอกชน จะมีการขยายระยะเวลาสัญญาให้ในช่วงที่แรงงานต้องหยุดการทำงานทั้งหมด
ทั้งนี้ในช่วงวันที่ 26 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมากระทรวงแรงงานและผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่แคมป์ก่อสร้างที่กำหนด ได้มีการขอกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายความมั่นคงเข้าไปดูแล เฝ้าระวังพร้อมทั้งดูแลความปลอดภัยเพิ่มเติมในบางแคมป์เพื่อดูแลความเรียบร้อยในช่วงเวลา 1 เดือนนี้ด้วย
และในวันเดียวกันทางปลัดกรุงเทพมหานคร(กทม.) ได้มีหนังสือสั่งการทางวิทยุ(ด่วนที่สุด)ถึงผู้อำนวยการทุกเขต ในการเร่งสื่อสารและสร้างความเข้าใจกับผู้ประกอบการที่มีแคมป์คนงานก่อสร้างทุกแห่งในพื้นที่กทม.ให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดฯตามที่ราชการกำหนด,งดการเคลื่อนย้ายแรงงาน เป็นเวลา 15 วัน โดยประสานหน่วยงานทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอความร่วมมือในการปฏิบัติงานดังกล่าวโดยด่วน และให้มีมาตรการตรวจสอบเข้มงวดกับแคมป์คนงานก่อสร้างในพื้นที่กทม. โดยให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการกำกับ ตักเตือน และสั่งให้ปฏิบัติให้ถูกต้องที่ทางราชการกำหนด
แต่เมื่อเมื่อกลางดึกวันที่ 26 มิถุนายน 2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ คำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) หรือ ศบค.ที่ 6/2564 เรื่อง พื้นที่ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ตามข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ใจความสำคัญ กำหนดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือพื้นที่ สีแดงเข้มใหม่ ประกอบด้วย 10 จังหวัด และประกาศข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 25)
ในกรณีมาตรการดังกล่าว ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต้องจำยอมให้ความร่วมมือ แต่ในสภาพความเป็นจริงแล้ว ผู้ประกอบการทุกรายล้วนไม่เห็นด้วยกับการปิดแคมป์งานก่อสร้าง เพราะนั่นหมายถึงผลกระทบที่ตามมาเป็นลูกโซ่ในทุกธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากภาครัฐมีมาตรการเยียวยาเฉพาะแรงงานก่อสร้าง แต่ไม่ได้มีมาตรการเยียวยาช่วยเหลือผู้ประกอบการ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความสูญเสียอย่างมหาศาล ที่ไม่สามารถประเมินเป็นตัวเลขที่ชัดเจนได้
กระทบทั้งอุตสาหกรรมความเสียหายมูลค่า 10,000 ล้านบาท
นางสาวลิซ่า งามตระกูลพานิช นายกสมาคมสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2564 ตนพร้อมด้วยคณะกรรมการบริหาร และกลุ่มสมาชิกผู้ประกอบการก่อสร้างกว่า 35 บริษัท ร่วมประชุมหารือกับนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กรณีผลกระทบจากการประกาศปิดแคมป์คนงานและไซต์ก่อสร้างในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร-ปริมณฑล เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานก่อสร้าง ซึ่งจากการหารือ สมาคมฯ ได้เรียนชี้แจงภาพรวมของอุตสาหกรรมก่อสร้างภายในประเทศ ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมหลัก คิดเป็น 8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ และมีการจ้างแรงงานกว่า 3 ล้านคน
“การประกาศปิดแคมป์คนงานและไซต์ก่อสร้างจึงส่งผลกระทบในวงกว้าง ไม่เฉพาะการดำเนินโครงการก่อสร้างของภาครัฐและเอกชนเท่านั้น แต่ยังกระทบถึง Supply Chain อื่นๆ ทั้งผู้ค้าวัสดุ และโรงงานการผลิตสินค้าด้วย คาดว่าจะสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมก่อสร้างทั้งระบบประมาณ 10,000 ล้านบาท หากมีการปิดแคมป์งานนานกว่านั้น ก็จะเกิดความเสียหายเพิ่มขึ้น ดังนั้น ภาครัฐจำเป็นจะต้องมีแนวทางและมาตรการการป้องกันและจัดการแคมป์ก่อสร้าง รวมถึงมาตรการเยียวยาแรงงานและผู้ประกอบการที่ชัดเจน”
ปัจจุบันในกทม.มีแคมป์คนงานกว่า 400 แห่ง บริษัทใหญ่ไม่น่าห่วง แต่น่าห่วงบริษัทรายเล็กที่อยู่กระจายตามชุมชน หากไม่มีนโยบายที่ชัดเจน เชื่อว่าคนงานจะแตกกระจายหนีกลับบ้าน หรือออกนอกพื้นที่กันหมด จะยิ่งเป็นการเพิ่มการแพร่ระบาดของเชื้อโรค เหมือนที่หลังนายกฯประกาศปิดแคมป์งานก่อสร้าง เมื่อวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา พบว่ามีแรงงานรายย่อยแบบเหมาค่าจ้างรายวันบางส่วนทยอยกลับต่างจังหวัด จากแรงงานในกทม.ปัจจุบันที่มีกว่า 50,000 คน
โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ชี้แจงว่า การประกาศล็อกดาวน์ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร-ปริมณฑลครั้งนี้ หมายรวมถึงการปิดแคมป์และไซต์ก่อสร้าง โดยห้ามมิให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงาน และหยุดการดำเนินกิจกรรมภายในไซต์งาน เป็นระยะเวลา 1 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2564 โดยกระทรวงแรงงานจะเสนอให้มีการประเมินสถานการณ์ทุก 15 วัน รวมไปถึงจะมีการตรวจเชิงรุกและจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมให้กับกลุ่มแรงงานในแคมป์ก่อสร้างในช่วงหยุดงานด้วย
ทั้งนี้ ในส่วนของการเยียวยาแรงงานก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบนั้น ได้มีแนวทางช่วยเหลือให้กับแรงงานไทย แรงงานต่างด้าว และพนักงานในระบบประกันสังคม ม.33 และจ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่า 6 เดือน ในระยะเวลา 15 เดือนที่ผ่านมา โดยภาครัฐจะจ่ายค่าชดเชย 50% กรณีต้องหยุดงานจากมาตรการปิดแคมป์ก่อสร้างและหยุดก่อสร้าง ทั้งนี้ รายละเอียดการเบิกจ่ายค่าชดเชย ผู้ประกอบการจะต้องประสานงานกับประกันสังคมเขตพื้นที่โดยตรง ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้ยืนยันถึงความพร้อมให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการและแรงงานก่อสร้างอย่างเต็มที่
นอกนี้ สมาคมฯ ยังได้นำเรียนถึงผลกระทบด้านความปลอดภัยจากการที่ถูกสั่งหยุดก่อสร้างกะทันหัน ไม่ทันได้เตรียมการล่วงหน้า ซึ่งประเด็นนี้จะอยู่นอกเหนือความรับผิดชอบของกระทรวงแรงงาน โดยสมาคมฯ จะได้ยื่นหนังสือเพื่อขอหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ศบค. กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานอื่นๆ เพื่อขอความชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติโดยด่วน และในส่วนประเด็นปัญหาอื่นๆ ที่เป็นผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ทั้งการขยายสัญญา และการลด งด คืนค่าปรับ รวมไปถึงปัญหาเหล็กเส้นขึ้นราคา ที่ทางสมาคมฯ ได้เสนอภาครัฐแต่ยังไม่ได้รับการตอบรับตั้งแต่ช่วงปีที่ผ่านมา สมาคมฯ ก็ได้นำเรียนผ่านท่านรัฐมนตรีฯ ไปยังท่านนายกรัฐมนตรี เพื่อขอมาตรการเยียวยาที่ชัดเจนแล้ว
“สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ รับทราบประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น และขอขอบคุณสำหรับข้อมูลและข้อเสนอแนะจากท่านสมาชิกและผู้ประกอบการทุกท่าน สมาคมฯ ขอให้ทุกท่านเชื่อมั่นในความตั้งใจของสมาคมฯ ที่จะเป็นตัวแทนผู้ประกอบการก่อสร้างในการแก้ไขปัญหา โดยคำนึงถึงประโยชน์ต่อสาธารณชน สังคม ประเทศชาติ และผลักดันให้ธุรกิจก่อสร้างเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน” นางสาวลิซ่า กล่าวในที่สุด
หวั่นครบ 30 วันเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงาน
นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า มาตรการที่ออกมา มี Effect หนัก เพราะกระแสเงินสดจะติดหมดเลย ผู้รับเหมาก่อสร้างที่ทำในแคมป์ มีหลากหลาย รวมไปถึงธุรกิจอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ทำให้งานก่อสร้างล่าช้า หลายโครงการเตรียมพร้อมรอโอนที่อยู่อาศัยให้กับลูกค้า แต่ก็ต้องมาประสบปัญหา กระแสเงินสดหมุนเวียน จะเป็นเรื่องใหญ่ หากผู้ประกอบการโอนไม่ได้ เป้าโอนกรรมสิทธิ์จะหลุด ยิ่งในภาวะแบบนี้ ลูกค้าไม่อยากจะโอนอยู่แล้ว และอาจจะขอเรื่องคืนเงินดาวน์หรือเงินจองคืน ซึ่งผู้ประกอบการก็มีวิธีการบริหารเงินเหล่านี้ ที่ได้รับจากลูกค้าไปดำเนินการพัฒนาโครงการแล้ว ซึ่งหากลูกค้าเกิดอาการลังเลในการโอนแล้ว รายได้ที่ไหนจะเข้า ซึ่งปัจจุบันโครงการจะเก็บเงินดาวน์ลูกค้าประมาณร้อยละ 10-20 อีกร้อยละ 80 ที่ผู้ประกอบการกู้มาจากสถาบันการเงิน จะจ่ายหนี้ธนาคารอย่างไร ของใหม่ คือ โครงการใหม่ ไม่ต้องคุยเลย เจ้าหนี้ไม่ให้กู้แน่นอน ต้องเข้าใจ อสังหาฯเดินด้วย สินเชื่อจากสถาบันการเงิน
“ในประเด็นเรื่องความเสียหายจากการปิดแคมป์คนงานนั้น ไม่สามารถประเมินได้ เพราะไม่ทราบจำนวนของคนงานที่ย้ายออกจากแคมป์ว่ามีมากเพียงใด และเดินทางไปไหน ซึ่งมีความกังวลว่าจะมีการยกระดับยอดติดเชื้อและความเสียหาย หากโชคร้าย กระจายออกไปเป็นสายพันธุ์อินเดีย จะเกิดอะไรขึ้น และสิ่งที่ต้องรับมือหลังจบ 30 วันแล้ว อาจจะกลายเป็นปัญหาเรื่องแรงงานขาดแคลนตามมา”
โดยแรงงานที่ไม่ถูกต้อง ถ้ากลับมา ถามว่าเราจะกล้ารับเข้าทำงานต่อหรือไม่ ก็ไม่รู้ไปติดเชื้อมาจากที่ไหน ต้องคัดกรองเพิ่มขึ้น รัฐบาลหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ต้องเข้าใจและยอมรับปัญหา เรื่องแรงงานเถื่อน ที่อยู่ในไซต์งานก่อสร้างเกือบทุกแคมป์ แต่ถ้าเราประเมินว่า แรงงานเถื่อนมีไม่กี่แห่ง ตรงนี้ ไม่ต้องไปประเมิน เพราะข้อมูลก็ผิดแล้ว
สำหรับภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2564 คงไม่เห็นการเติบโต หรือ บวกเพิ่ม เนื่องจากต้นทุนในการก่อสร้าง เหล็กขึ้นราคา ทองแดงที่้ปรับสูงขึ้น ทำให้สายไฟแพงขึ้น และอื่นๆ ก็มีผลต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ หากบริษัทอสังหาฯไม่แม่นยำในการคำนวณต้นทุน ก็ลำบาก และหากจะบวกเพิ่มเข้าไปในราคาขาย ในภาวะตอนนี้ “ลดราคาเกือบตายยังขายไม่ได้เลย”
“เราก็มีความเป็นห่วงเรื่องสินเชื่อรายย่อย หากสถาบันการเงินกังวลจะเกิดระดับการแพร่เชื้อที่สูงขึ้น เศรษฐกิจยังไม่มีแนวโน้มการฟื้นตัว แบงก์จะรัดเข็มขัดคนซื้อที่อยู่อาศัยหนักกว่าเดิมขึ้นไปอีก” นายพรนริศ กล่าวในที่สุด
ปิด 1 เดือน ยอดโอนทั้งธุรกิจวูบ 30,000 ล้านบาท
นายปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด(มหาชน)หรือ PS ในเครือบริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด(มหาชน)หรือ PSH กล่าวว่า มาตรการการล็อกแคมป์งานก่อสร้างนั้น เป็นการประกาศแบบฉุกละหุก ส่งผลกระทบทั้งหมด ซึ่งความจริงควรที่จะมีการปรึกษาหารือกับผู้ประกอบการล่วงหน้าก่อนประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อให้มีโอกาสในการรับมือ โดยการสั่งปิดแคมป์งานก่อสร้างเป็นระยะเวลา 1 เดือน จะกระทบต่อยอดโอนของภาคธุรกิจอสังหาฯมูลค่าประมาณ 30,000 ล้านบาท/เดือน โดยในส่วนของ PS เองมีคอนโดฯ 2 โครงการที่จะโอนประมาณเดือนพฤศจิกายน 2564 ได้รับผลกระทบคิดเป็นมูลค่าประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาท/เดือน ซึ่งจากมาตรการเป็นการช่วยเหลือแรงงานมากกว่าผู้ประกอบการ โดยกรุงเทพมหานคร(กทม.)ก็มีการเรียกเข้าไปหารือเรื่องการเยียวยาแรงงานก่อสร้าง ขณะนี้รัฐบาลยังไม่มีนโยบายช่วยเหลือผู้ประกอบการแต่อย่างใด ซึ่งก็ต้องรับสภาพไป ในส่วนของบริษัทฯเองนั้นไม่มีความกังวลเรื่องสภาพคล่องเงินสดแต่อย่างใด แต่ห่วงภาพรวมตลาดอสังหาฯและเศรษฐกิจในประเทศมากกว่า ว่าจะเดินหน้าต่อไปได้อย่างไร หากรัฐไม่มีมาตรการช่วยเหลือที่ชัดเจน
“หลังจากที่นายกฯประกาศปิดแคมป์งานก่อสร้าง ได้มีแรงงานในส่วนของคอนโดมิเนียม ที่เป็นคนไทย เริ่มทยอยกลับภูมิลำเนาของตัวเองไปบ้างแล้วประมาณ 30-40% ส่วนแรงงานโครงการแนวราบ มีกลับภูมิในสัดส่วนประมาณ 10% เท่านั้น ซึ่งยิ่งทำให้มีการแพร่กระจายเชื้อโรคออกไปในพื้นที่ในต่างจังหวัดมากขึ้น เวลาประกาศอะไรแล้วไม่ทำแผนล่วงหน้าก็จะมีผลออกมาอย่างนี้ ขณะเดียวกันแคมป์ในพื้นที่กทม.ก็มีทหารเข้าไปควบคุมการหลบหนีของแรงงานหมดทุกแคมป์ ส่วนแคมป์ในต่างจังหวัดก็คงมีการสุ่มเข้าไปควบคุมเป็นบางแคมป์ ”นายปิยะ กล่าว
นายปิยะ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของงานก่อสร้างนั้นทั้งผู้ประกอบการและผู้รับเหมาก่อสร้างก็ต้องมีการหารือร่วมกันในการขยายระยะเวลาการก่อสร้างออกไป ซึ่งไม่ค่อยหนักใจเท่ากับลูกค้าบางกลุ่มประมาณ 20-30% ที่ถือโอกาสจากสถานการณ์ดังกล่าวยกเลิกการโอนไปเลย อย่างไรก็ตามงานก่อสร้างแนวสูงคงหยุดไปตามกำหนด แต่งานก่อสร้างแนวราบคงเร่งงานโอทีให้มากขึ้น รวมไปถึงการปรับกลยุทธ์ทางการตลาดอัดแคมเปญกระตุ้นยอดขายเพิ่มมากขึ้น
“การสั่งปิดแคมป์งานก่อสร้างระยะเวลา 1 เดือนนั้นต้องจบการแพร่ระบาดของเชื้อโรคให้ได้จริงๆ หากไม่จบความเสียหายจะมหาศาลกว่านี้ ดังนั้นรัฐบาลควรเร่งฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด เพราะปัจจุบันคนไทยทั้งประเทศยังฉีดวัคซีนไม่ถึง 10 ล้านคน จากแผนที่ต้องฉีดให้ได้ 70% ก่อนที่จะเปิดประเทศภายใน 120 วัน ซึ่งคงเป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน”
แนะ 5 ข้อเสนอรัฐพิจารณาผ่อนปรน
นายอิสระ บุญยัง กรรมการผู้จัดการ บริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า มีความเข้าใจในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล แต่ลักษณะแคมป์คนงานกับไซต์งานในพื้นที่กทม.และปริมณฑล จะมีความแต่งกัน โดยในพื้นที่กทม. แคมป์คนงานกับไซต์งาน มักจะอยู่คนละพื้นที่ เนื่องด้วยไซต์งานก่อสร้างมีพื้นที่ที่จำกัด ขณะที่แคมป์คนงานกับไซต์งานในพื้นที่ปริมณฑล ส่วนใหญ่มักอยู่ในพื้นที่เดียวกัน หรือพื้นที่ใกล้เคียงไซต์งาน
ซึ่งมองว่าการล็อกแคมป์งานก่อสร้างจะส่งผลกระทบทำให้หยุดกิจกรรมในการก่อสร้างและธุรกิจที่เชื่อมโยงทั้งต้นน้ำและปลายน้ำทั้งหมด คิดเป็นมูลค่าความเสียหายอย่างมหาศาล ซึ่งรวมถึงโครงการเมกะโปรเจกต์ของภาครัฐด้วย ทั้งนี้จะทำให้ต้องมีค่าใช้จ่ายงบประมาณในการชดเชยแรงงานทั้งหมด และใช้กำลังพล ฝ่ายทหารหรือตำรวจ ฝ่ายปกครองในการกำกับดูแล ดังนั้นจึงอยากเสนอแนะภาครัฐดังต่อไปนี้
1.กรณีที่แคมป์คนงานกับไซต์งานอยู่ต่างพื้นที่กัน ควรเป็นการควบคุมการเดินทางระหว่างแคมป์คนงานกับไซต์งาน
2.กรณีที่แคมป์คนงานและไซต์งานอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ก็เป็นการควบคุมไม่ให้ออกนอกพื้นที่เท่านั้น
3.ทั้ง 2 กรณีข้างบนก็ยังคงใช้กำลังพล ฝ่ายทหาร ตำรวจ หรือฝ่ายปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงกำลังคนของฝ่ายผู้ประกอบการเข้าร่วมด้วย เพื่อเป็นการลดภาระด้านงบประมาณ
4.ตรวจเชิงรุก สำหรับผู้ที่มีผลการตรวจเป็นบวก ควรนำไปรักษา ส่วนผู้ที่ไม่ติดเชื้อก็ให้ทำงานอย่างปกติต่อไปได้ ซึ่งทำให้ไม่สูญเสียงบประมาณ เพราะอย่างไรก็ควรต้องแยกผู้ที่มีผลการตรวจเป็นบวกกับลบออกจากกันอยู่แล้ว
5.เห็นด้วยกับวิธีการที่รัฐบาลเคยใช้ในการล็อกดาวน์ตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคาร คือล็อกเฉพาะพื้นที่และมีมาตรการคุมเข้มในรัศมีโดยรอบ
“การประกาศล็อกดาวน์ครอบคลุมทุกพื้น ทุกไซด์งาน ไม่น่าจะช่วยลดการแพร่ระบาดได้ เพราะคนงานส่วนหนึ่งจะหลบหนีออกนอกพื้นที่โดยเฉพาะแรงงานไทย ซึ่งจะเดินทางกลับบ้าน และจะยิ่งยากต่อการตรวจสอบ ที่จริงหากให้ทำงานตามปกติ แต่ปิดแคมป์คนงานซึ่งมีอัตราการติดเชื้อสูง โดยปิดเป็นแห่งๆไปจะมีประโยชน์กว่าการระดมตรวจสอบทุกแคมป์คนงานหรือทุกไซด์งานว่ามีการติดเชื้อหรือไม่ กรณีนี้เป็นประโยชน์ต่อแคมป์ที่มีขนาดไม่ใหญ่มากโดยเฉพาะในโครงการจัดสรรต่างๆซึ่งกระจายอยู่ในจังหวัดปริมณฑล ที่ผ่านมาก็ไม่ได้พบการติดเชื้อในอัตราสูง ก็ควรให้ทำงานตามปกติ”
ปัจจุบันในส่วนของกานดาฯมีประมาณเกือบ 20 ไซต์ โดยอยู่ในพื้นที่ปริมณฑล และที่จ.ภูเก็ต แต่ไม่มีตำรวจ ทหาร เข้าไปควบคุมแต่อย่างใด ซึ่งมองว่าการประกาศล็อกดาวน์เช่นนี้ ผู้ประกอบการโครงการและผู้รับเหมาก่อสร้างคงต้องมีการหารือร่วมกันในการขยายระยะเวลาการก่อสร้างออกไป แต่ถ้าจะให้ดีอยากให้ภาครัฐฟังความคิดเห็นของผู้ประกอบการธุรกิจด้วย ซึ่งขณะนี้ทั้ง 3 สมาคมอสังหาฯ คือ สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย และสมาคมอาคารชุดไทย อยู่ในระหว่างการหารือเพื่อนำเสนอความเห็นต่อรัฐบาล ส่วนจะเป็นช่องทางไหนยังไม่สามารถเปิดเผยได้
วอนรัฐผ่อนปรนกฎเกณฑ์ลดความเสียหายในไซต์งานก่อสร้าง
นพ.เชิดศักดิ์ อัมพรสุขสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท แสงฟ้าก่อสร้าง จำกัด กล่าวว่า จากการที่นายกฯประกาศปิดแคมป์งานก่อสร้างเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมานั้น ยังไม่มีความชัดเจน 100% เพราะไม่มีการให้ผู้ประกอบการได้มีเวลาในการตั้งตัวหรือปรับหน้าไซต์งานก่อสร้างก่อน ดังนั้นตนจึงได้ร่วมกับทางสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยฯเข้าร่วมประชุมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2564 และกับกทม.ในวันนี้ (28 มิถุนายน 2564) ผลสรุปออกมาว่าให้งดงานก่อสร้างในแคมป์งานทุกกรณี ซึ่งตนและผู้ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง พร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับภาครัฐ แต่อยากจะให้ภาครัฐเข้าใจในระบบงานก่อสร้างบางประเภทที่ไม่สามารถหยุดการดำเนินงานได้อย่างกะทันหัน เช่น งานระบบใต้ดิน ที่มีการขุดดินทิ้งเอาไว้ หากเกิดการถล่มขึ้นมาจะเกิดความเสียหายมูลค่าอย่างมหาศาล หรือหัวเจาะหากปล่อยทิ้งไว้ไม่ดำเนินการให้แล้วเสร็จ เพียงภายใน 3 วัน จะทำให้หัวเจาะติดดิน และต้องใช้เม็ดเงินในการจัดหาอุปกรณ์ดึงหัวเจาะขึ้นมาอีก ซึ่งภาตรัฐควรผ่อนปรนให้งานบางส่วนเดินหน้าต่อให้แล้วเสร็จ ไม่ควรทิ้ง ควรให้เวลาเดินหน้าต่อจนเสร็จ ซึ่งทางสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย กำลังทำหนังสือยื่นไปยังรัฐบาลผ่อนปรนในบางกฎเกณฑ์ลง เพื่อป้องกันการเกิดความเสียหายมูลค่าอย่างมหาศาล
“ในด้านความเสียหายไม่อยากคิด เอาแค่ค่ากินอยู่ ค่าชดเชยคนงานที่ผ่านมาก่อนสั่งปิดแคมป์งานก่อสร้าง ก็มีมูลค่ามากกว่า 10 ล้านบาทแล้ว และการสั่งปิดอีกเป็นระยะเวลา 1 เดือนก็จะสร้างมูลค่าวความเสียหายมากกว่า 10 ล้านบาทอย่างแน่นอน ภาครัฐจะทำอะไรก็ขอให้มีความชัดเจน มิเช่นนั้นจะสับสนและเดินต่อไม่ได้ เชื่อว่าหากฉีดวัคซีนได้เร็วทุกอย่างก็จะจบได้เร็วในทุกอุตสาหกรรม”
นพ.เชิดศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของแสงฟ้าฯเองที่ผ่านมาก็มีมาตรการการควบคุมโรคลักษณะ Bubble and Seal อยู่แล้ว คือเป็นการทำงานก่อสร้างในระบบปิด ต่อให้มีผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ก็จะไม่มีการแพร่ระบาดไปออกสู่ภายนอก ซึ่งบริษัทได้ดำเนินการมา 1 ปีกว่าแล้ว และล่าสุดได้มีการสั่งวัคซีนซิโนฟาร์ม จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อมาฉีดให้แรงงานต่างด้าวที่ทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ไม่ได้อยู่ในระบบมาตรา33 ประมาณ 1,500 คน โดยแบ่งเป็นพื้นที่ในกทม. 8-9 แคมป์ และชลบุรี 1 แคมป์ เชื่อว่าหากภาครัฐสามารถจัดหาวัคซีนมาฉีดให้แรงงานในอุตสาหกรรมก่อสร้าง-อสังหาฯทั้งหมดหมดจนครบ ก็จะไม่มีการแพร่เชื้อเกิดขึ้น ก็จบภายใน 1 เดือน โดยการหาสถานที่ที่จัดให้ ฉีดนั้น ทางรัฐบาลยังไม่ได้ให้ข้อมูลในรายละเอียด
“แม้ว่าการสั่งปิดแคมป์งานก่อสร้างภาครัฐจะมีการเยียวยาดูแลแรงงานในระดับหนึ่ง แต่ในด้านของผู้ประกอบการนั้นยังไม่มีการให้ความช่วยเหลือแต่อย่างใด ซึ่งผู้ประกอบการคงต้องช่วยเหลือตัวเองไปก่อน”นพ.เชิดศักดิ์ กล่าวในที่สุด
นี่คือเสียงสะท้อนของสมาคมฯและผู้ประกอบการอสังหาฯ-รับเหมาก่อสร้าง ที่อยากส่งไปให้ถึงภาครัฐรับรู้และพิจารณาผ่อนปรน หรือมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการด้วย มิเช่นนั้นจะเกิดความสูญเสียอย่างมหาศาล