“อาคม เติมพิทยาไพสิฐ”เชื่อทั่วโลกเผชิญวิกฤติถ้วนหน้า แนะผู้ประกอบการต้องปรับตัวรับมือ ขณะที่ภาครัฐไม่นิ่งนอนใจ พร้อมให้ความช่วยเหลือต่อเนื่อง โปรยยาหอมภาคอสังหาฯเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจและดัชนีชี้นำภาพรวม เห็นพ้องผู้ประกอบการเริ่มให้ความสำคัญโครงการสำหรับผู้สูงวัย พร้อมให้การสนับสนุนเรื่องอุปกรณ์ให้กับผู้สูงอายุ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยในงานสัมมนา Property Inside 2022 “ทางรอดอสังหาฯ” หลังโควิด–ไฟสงคราม” ซึ่งจัดโดย ฐานเศรษฐกิจ โดยปาฐกพิเศษภายใต้หัวข้อ “อสังหาฯ เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้จริงหรือ?” เปิดเผยว่า อสังหาฯเป็นภาคธุรกิจที่สำคัญมากของประเทศ และเป็นเครื่องยนต์ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้จริง ดังนั้นโควิด-19 จะไปจริงหรือไม่นั้น ก็ประมาทไม่ได้ แต่เชื่อว่าในภาพรวมก็น่าจะคลี่คลาย แต่ก็มาเจอไฟสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งผลกระทบคือพลังงาน และค่าครองชีพ และการที่ธนาคารกลางสหรัฐ(Fed)มีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นมา ซึ่งมีผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้า ซึ่งธปท.ก็จับตาดูเป็นพิเศษ และเดือนสิงหาคม ก็ต้องดูอัตราดอกเบี้ยกันอีกครั้ง ซึ่งทุกประเทศทั่วโลกต่างเผชิญปัญหาเหมือนกันหมด
“ก็จะต้อง Cool Down ในเรื่องเศรษฐกิจบ้าง แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องปรับตัวรับมือ ซึ่งภาครัฐก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่ก็มีข้อจำกัดในการช่วยเหลือ แต่ก็มีเครื่องมือคือกองทุนน้ำมันและการเจรจากับโรงกลั่น”นายอาคม กล่าว
ในไตรมาส 1/2565 เศรษฐกิจโต 2.5 % โดยมีสัญญาณจากการท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น และการส่งออกที่เริ่มดีขึ้นถึง 60% ในอดีตก่อนโควิด-19 ระบาด การท่องเที่ยวอยู่ที่ 12% ซึ่งเป็นท่องเที่ยวต่างชาติและท่องเที่ยวในประเทศ แต่ตอนนี้การท่องเที่ยวไม่ถึง 12% และปีนี้ คิดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาประมาณ 9 ล้านคน ขณะที่ภายในประเทศต้องพึ่งเรื่องการบริโภค ซึ่งต้องดูเรื่องกำลังซื้อกลับมาหรือไม่ เพราะมีผลต่อสินค้าอุปโภคและบริโภค มีผลต่อสินค้าคงทน เช่น รถยนต์ โดยภาคอสังหาฯคิดเป็น 8-9% ของจีดีพี สำหรับธุรกิจอสังหาฯคำตอบชัดเจนอยู่แล้วว่าสามารถช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้แน่นอนอยู่แล้ว ขณะที่สถาบันการเงิน ช่วง 2 ปี สถาบันการเงินไม่ปล่อยสินเชื่อ แต่เมื่อธุรกิจส่งออก ท่องเที่ยว และอสังหาฯ ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 80 ก็น่าจะดีกับเศรษฐกิจ แต่อสังหาฯเป็นดัชนีชี้นำภาพรวมเศรษฐกิจ เช่น การโอนที่ดิน การขออนุญาตก่อสร้าง หากตัวเลขเหล่านี้เกิดขึ้น ก็จะเห็นผลดีต่อทิศทางเศรษฐกิจในช่วง 3-6 เดือนข้างหน้า ซึ่งหลายๆ ประเทศ ก็ใช้ ดัชนีอสังหาฯ เป็นการพยากรณ์ และยังมีผลต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่องที่จะเกิดขึ้น แม้ตอนนี้ ราคาเหล็กจะมีเกิดปัญหา
ดังนั้นภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกัน โดยภาคเอกชน ต้องพิจารณาเรื่องดีมานด์และซัพพลาย แม้ดีมานด์จะชะลอตัว แต่ซัพพลายนั้นต้องดูว่ามีมากเกินไปหรือไม่ ซึ่งในภาคอสังหาฯสามารถแบ่งได้เป็น 4 เซกเมนต์ คือ
1.ตลาดระดับล่าง เป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ซึ่งภาครัฐก็จะต้องเข้ามาดูแลมากหน่อยทั้งธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.)และการเคหะแห่งชาติ(กคช.)
2.ตลาดระดับกลาง
3.ตลาดระดับบน โดยตลาดระดับกลางและระดับบน อาจจะแบ่งแยกยากเล็กน้อย ซึ่งจะเป็นบทบาทของภาคเอกชนเป็นหลัก ซึ่งก็มีภาคเอกชนที่เข้ามาเล่นตลาดระดับลาง เพราะรัฐบาลมีโครงการบ้านเช่าสำหรับข้าราชการ เช่น ของ กคช.ในโครงการเคหะสุขประชา เป็นต้น
4.ตลาดลักชัวรี่ มีการดึงดูดกลุ่มชาวต่างชาติที่มีรายได้สูง เข้ามาพักผ่อนและเกษียณอายุ ซึ่งต้องมีความเชี่ยวชาญจริงๆ จะได้รับเรื่องการช่วยเหลือด้านภาษี และมองว่า ตลาดอาคารสำนักงาน ก็ยังเป็นโอกาสของผู้ประกอบการ เนื่องจากปัจจุบันราคาที่ดินของประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเวียดนาม มีราคาสูงกว่าประเทศไทย ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่จะดึงดูดให้ชาวต่างชาติย้ายมาตั้งสำนักงานในประเทศ ซึ่งขณะนี้มีหลายประเทศ จะย้ายสำนักงานภูมิภาคมาประเทศไทยแล้วเช่นกัน
ส่วนเรื่องความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด หลายส่วนอยู่ในระหว่างการอนุมัติการก่อสร้าง การประกวดราคา เป็นต้น ซึ่งเป็นนโยบายที่สำคัญของทุกประเทศ ทั้งนี้ต้องดูพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่จะเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่
“พอพ้นโควิด-19 เราต้องดูเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เราต้องทำ แต่ปัจจัยสำคัญ เราต้องมองเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราต้องมองเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อม โครงสร้างพื้นฐานเราต้องดูการใส่ใจสิ่งแวดล้อม” นายอาคม กล่าว
นายอาคม กล่าวต่อไปว่า รัฐต้องดูแลประชาชนระดับฐานล่าง เช่น ธอส. อาจต้องมีผลกำไรบ้าง แต่อาจจะข้ามเส้นไปบ้าง แต่มองเรื่องดังต่อไปนี้ คือ
1.ดอกเบี้ย เป็นต้นทุนสำคัญของผู้ซื้อและกับผู้ประกอบการ ในด้านการกำกับอัตราดอกเบี้ย เป็นเรื่องที่สำคัญ ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น
2.การลดค่าธรรมเนียมการโอนฯ ที่ดำเนินการมาต่อเนื่องตั้งแต่วิกฤติซัพไพร์ม เป็นเรื่องที่ภาครัฐ เข้ามาดูแล ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายพอสมควร และมีการครอบคลุมบ้านมือสองด้วย
3.มาตรการเรื่องลดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Loan to Value : LTV) ที่จะหมดอายุในปลายปี 2565 นี้ ซึ่งคงมีการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)อีกครั้ง และก็ต้องหารือกับกระทรวงมหาดไทย ด้วย ส่วนเรื่องอัตราดอกเบี้ย ก็ถือว่าเป็นต้นทุนที่สำคัญสำหรับผู้ซื้อ ในด้านการกำกับอัตราดอกเบี้ยถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งต้องทำความเข้าใจกับประชาชนให้มีความเข้าใจ
สำหรับบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ มีการนำเรื่องสังคมผู้สูงอายุเข้ามาผนวกกับอยู่อสังหาฯ คุณภาพต้องมีการปรับเปลี่ยน ปัจจุบันได้เห็นผลิตภัณฑ์ที่ขายในออนไลน์ มีการเทกแคร์ผู้สูงอายุที่พิการ ซึ่งต้องมองในเรื่องคุณภาพในภาวะที่ต้นทุนเพิ่มขึ้น เรื่องนี้ภาครัฐได้นำร่องในโครงการ “รามา-ธนารักษ์” (ซีเนียร์คอมเพล็กซ์) มาแล้ว ซึ่งภาคเอกชน ก็สามารถดำเนินการได้ ดังนั้นเมื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ก็กลับไปสู่มาตรการของภาครัฐในการสนับสนุนเรื่องอุปกรณ์ให้กับผู้สูงอายุ ซึ่งตอนนี้ทุกคนเครียดเรื่องภาวะน้ำมัน แต่ภาครัฐไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลเรื่องพลังงานและราคาสินค้า