บิ๊กพร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอฯ เผยจับตาดูนโยบายแกนนำรัฐบาลใหม่ พบมี 3 ข้อ เชื่อมโยงภาคอสังหาฯแต่ยังไม่สร้างแรงกระตุ้น ลุ้นคลอดมาตรการช่วยเหลือเทียบรัฐบาลก่อนหน้าหรือไม่
นายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ จำกัด เปิดเผยว่า หลังจากที่ประเทศไทยผ่านช่วงของการเลือกตั้งครั้งสำคัญมาแล้ว และหลังจากนี้จะเป็นช่วงเวลาของการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ ก็คือ พรรคก้าวไกลที่กวาดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.)ได้มากที่สุดทั่วประเทศ และคงไม่ผิดถ้าก้าวไกลเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลในครั้งนี้ โดยนโยบายต่างๆ ที่พรรคเคยหาเสียงไว้ก่อนหน้านี้ คงต้องติดตาม และดูแนวทางรวมไปถึงผลลัพธ์ว่าเป็นไปตามนโยบายที่ประกาศมาก่อนหน้านี้ อีกทั้งมีแนวทางในการดำเนินการอย่างไร ซึ่งหากพิจารณาเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับตลาดอสังหาริมทรัพย์อาจจะไม่เห็นที่เกี่ยวข้องโดยตรง แต่มี 2 – 3 นโยบายที่สามารถเชื่อมโยงถึงตลาดอสังหาริมทรัพย์ได้ คือ
1.นโยบายช่วยค่าผ่อนบ้านสำหรับคนที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยหลังแรก ในอัตราหลังละ 2,500 บาทต่อเดือนเป็นระยะเวลา 30 ปี จำนวน 100,000 ราย สำหรับที่อยู่อาศัยที่มีมูลค่าไม่เกิน1,500,000 บาทต่อยูนิต
2.นโยบายช่วยค่าเช่าที่อยู่อาศัย ทั้งบ้าน หรือห้องพักรูปแบบต่างๆ ในอัตรา 1,000 บาทต่อเดือนสำหรับห้องเช่าที่มีค่าเช่าไม่เกิน 4,000 บาทต่อเดือน
3.นโยบายจัดสรรที่ดินทำกิน โดยการเอาที่ดินสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.)ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือใช้ประโยชน์ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ มาตรวจสอบ รวมไปถึงการตรวจสอบผู้ถือเอกสารสิทธิ์ว่าถูกต้องตามวัตถุประสงค์หรือไม่ แล้วจัดสรรให้กับผู้ที่ขาดแคลนที่ดินทำกินในรูปแบบของโฉนดที่ดิน
ทั้ง 3 นโยบายคงไม่ได้สร้างแรงกระตุ้นให้กับตลาดอสังหาริมทรัพย์มากนัก แต่อย่างน้อยคนกลุ่มหนึ่งในนโยบายที่ 1 จำนวน 100,000 รายก็สามารถมีชื่อเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยได้ และช่วยให้ตลาดที่อยู่อาศัยในระดับราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาทมีความเคลื่อนไหวมากกว่าที่ผ่านมาเพราะกำลังซื้อของตลาดที่อยู่อาศัยในระดับราคานี้มีปัญหาในเรื่องของการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยมานานแล้ว ผู้ซื้อในตลาดนี้ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อที่อยู่อาศัยจากธนาคารได้ เพราะปัญหาเรื่องของหนี้ครัวเรือน และความต่อเนื่องของรายได้ อีกทั้งการพิจารณาสินเชื่อของธนาคารก็มีความเข้มงวดมาก จนยอดการปฏิเสธสินเชื่อของคนในกลุ่มนี้สูงกว่า 50% นโยบายนี้คงต้องดูว่ารัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร มีความเกี่ยวข้องกับธนาคารหรือไม่ ใครจะเป็นคนออกค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ และธนาคารจะช่วยเหลือเต็มที่หรือช่วยเหลือภายใต้มาตรการการพิจารณาสินเชื่อในมาตรฐานของธนาคารควบคู่ไปด้วย เพราะสุดท้ายแล้วธนาคารยังคงต้องมองในระยะยาวว่านโยบายนี้เป็นนโยบายต่อเนื่องถึง 30 ปีหรือไม่
ส่วนนโยบายที่ 2 อาจส่งผลดีต่อการซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์มากขึ้น เพราะภาระในการจ่ายค่าที่พักลดลง การใช้จ่ายในเรื่องของการอุปโภค บริโภคก็ต้องมากขึ้น หรือนำไปใช้จ่ายในเรื่องอื่นๆ ก็คงมากขึ้นแน่นอน ขึ้นอยู่กับวินัยทางการเงินของแต่ละบุคคล ส่วนนโยบายที่ 3 ถ้าทำได้มากก็อาจสร้างงานสร้างอาชีพในต่างจังหวัดมากขึ้น เศรษฐกิจของต่างจังหวัดน่าจะดีขึ้น ถ้าคนมีที่ดินทำกินแล้วใช้ประโยชน์บนที่ดินที่ได้รับการจัดสรรมาอย่างแท้จริง ซึ่งจะมีส่วนช่วยผลักดันให้ระบบเศรษฐกิจในท้องถิ่นดีขึ้น
ถ้าพิจารณาถึงนโยบายด้านอสังหาริมทรัพย์ในรัฐบาลต่างๆ ที่ผ่านมาในช่วง 10 – 20 ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะมีมาตรการกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ออกมาทันทีที่การจัดตั้งรัฐบาลเสร็จสิ้นโดยมาตรการหลักๆ ที่รัฐบาลก่อนหน้านี้เลือกประกาศใช้เพื่อกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ คือมาตรการลดค่าธรรมเนียมในการโอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์เหลือ 0.01% ลดค่าจกจำนองลงเหลือ 0.01% ทั้ง 2 มาตรการนี้เป็นมาตรการหลักๆ ที่หลายรัฐบาลก่อนหน้านี้ใช้กันต่อเนื่องมาโดยตลอด เพราะไม่ได้เกี่ยวข้องกับภาคเอกชน และไม่ต้องมีการสั่งงานที่ซับซ้อนหลายขั้นตอนมากนัก รัฐบาลสามารถดำเนินการได้ทันทีภายใต้อำนาจของกระทรวงมหาดไทย แต่สุดท้ายแล้วคงต้องดูกันต่อไปว่ารัฐบาลปัจจุบันจะมีมาตรการหรือนโยบายอะไรออกมาเพื่อกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์หรือไม่