กทม.เร่งพัฒนาเมืองตั้งเป้าปี 2570 ติด 1 ใน 50 เมืองน่าอยู่ของโลก

You are currently viewing กทม.เร่งพัฒนาเมืองตั้งเป้าปี 2570 ติด 1 ใน 50 เมืองน่าอยู่ของโลก

กทม.เร่งเดินหน้าพัฒนาเมืองรองรับประชากรแฝงและชาวต่างชาติย้ายถิ่นเข้ามาทำงาน อยู่อาศัยในเมืองกรุงเทพฯมากขึ้นในอนาคต เผยปัจจุบันมีประชากรแฝงอาศัยอยู่ในกทม.ประมาณ 8-10 ล้านคน คิดเป็น 14% ของประชากรทั้งประเทศ ตั้งเป้าปี 2570 กทม.จะติด 1 ใน 50 อันดับแรกเมืองน่าอยู่ของโลก

รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์  ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “วิสัยทัศน์กรุงเทพฯในอนาคตกับภาคอสังหาริมทรัพย์” จัดโดยสมาคมอาคารชุดไทยว่า ในอนาคตจะมีประชากรจากต่างจังหวัดย้ายเข้ามาทำงานและอยู่อาศัยในกรุงเทพฯเพิ่มมากขึ้น ทำให้ที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุดจะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากกทม.เป็นเมืองใหญ่เมืองเดียวของประเทศไทย ทำให้เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

โดยเมืองกทม.มีขนาด GDP ที่สูงถึง 33 %  หรือประมาณ 5.3 ล้านล้านบาทของ GDP ทั้งประเทศไทยที่มีมูลค่า 16.1 ล้านล้านบาท มีรายได้จากการท่องเที่ยวคิดเป็น 30% หรือประมาณ 0.3 ล้านล้านบาทของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมดของประเทศที่มีมูลค่า 1 ล้านล้านบาท

ส่งผลให้ในปัจจุบันมีประชากรแฝงอาศัยอยู่ในกทม.ประมาณ 8-10 ล้านคน คิดเป็น 14% ของประชากรทั้งประเทศที่มีจำนวน 66ล้านคน ที่สำคัญมีจำนวนบริษัทจดทะเบียนนิติบุคคลในกรุงเทพฯคิดเป็น 36% จำนวน316,051 ราย ของจำนวนบริษัทจดทะเบียนนิติบุคคลทั้งประเทศ 887,053 ราย

นอกจากนี้ยังมีบริษัทต่างชาติที่ย้ายฐานมาตั้งออฟฟิศใหม่ในประเทศไทยเพิ่มขึ้น เพราะมีค่าครองชีพถูกกว่าฮ่องกงและสิงคโปร์ แต่คุณภาพชีวิตของประเทศไทยอยู่อันดับ 98 ของโลก ดังนั้นหากประเทศไทยสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ดี จะดึงคนต่างชาติ นักลงทุนเข้ามาในเมืองไทยมากขึ้น

ดังนั้นในฐานะที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่ากทม.จะต้องทำหน้าที่พัฒนาเมืองให้น่าอยู่ เพิ่มประสิทธิภาพของการทำงาน และสร้างโอกาสสำหรรับทุกคน โดยตั้งเป้าภายในปี 2570 กทม.จะติดอันดับ 1 ใน 50 อันดับแรกเมืองนิอยู่ของโลก  เพื่อจูงใจนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาตั้งฐานผลิตและสำนักงานในกทม. ช่วยให้เกิดการจ้างงานในเมืองกทม.ให้มากที่สุด ทำให้ในอนาคตจะเห็นสงครามการดึงคนเก่งเข้ามาทำงานในประเทศมากขึ้น

ขณะที่ปัญหาใหญ่ของคนกทม.คือ ปัญหารถติด ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพ ที่ต้องใช้ระยะเวลากว่า 71 ชั่วโมงต่อปีบนท้องถนน ทำให้ต้องมีการสร้างระบบรถไฟฟ้ามวลชนเข้ามารองรับด้านการจราจร โดยในปี 2571 กทม.และปริมณฑลจะมีรถไฟฟ้าเปิดให้บริการทั้งหมด 11 สาย จำนวน 297 สถานี  ระยะทาง 466.1 กิโลเมตร

รวมถึงปัญหาเรื่องพื้นที่สีเขียวไม่เพียงพอกับประชากร ซึ่งตามมาตรฐาน WHO กำหนดให้มีพื้นที่สีเขียว 9 ตารางเมตรต่อประชากร 1คน แต่ในช่วงปี 2562 ที่ผ่านมาสัดส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชาชนอยู่ที่  6.9 ตารางเมตรต่อคน และมีสัดส่วนพื้นที่สีเขียวที่สามารถใช้ประโยชน์ได้แค่ 0.92 ตารางเมตรต่อคนเท่านั้น โดยกทม.อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างสวนที่ใช้เวลาเดินทางจากที่พักอาศัยไปยังสวนประมาณ 15 นาทีจำนวน 128 จุดทั่งกรุงเทพรวมเนื้อที่ 687 ไร่