ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2566 มีมติเห็นชอบร่างข้อบังคับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการกำหนดอัตราค่าโดยสาร วิธีการจัดเก็บค่าโดยสารและการกำหนดประเภทบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีชมพู พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ
ทั้งนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (ช่วงแคราย – มีนบุรี) มีกำหนดเปิดให้บริการเดินรถในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 และบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอก โมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทาน จะเริ่มจัดเก็บค่าโดยสารในวันที่ 3 มกราคม 2567 ตามมาตรา 18 (13) แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2543 ซึ่งบัญญัติให้คณะกรรมการ รฟม. มีอำนาจหน้าที่ออกข้อบังคับเกี่ยวกับการกำหนดอัตราค่าโดยสาร ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมการใช้ทรัพย์สิน การให้บริการและความสะดวกในกิจการรถไฟฟ้า ตลอดจนวิธีการจัดเก็บค่าโดยสาร ค่าบริการและค่าธรรมเนียมดังกล่าว และกำหนดประเภทบุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระค่าโดยสาร โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี
โดยในส่วนของอัตราค่าโดยสารให้เป็นไปตามวิธีการในสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ซึ่งกำหนดให้คำนวณจากอัตราค่าโดยสารพื้นฐานของการเปลี่ยนแปลงดัชนีผู้บริโภค (Consumer Price Index: CPI) 3 เดือน ก่อนวันที่เริ่มให้บริการ (เดือนกันยายน 2566) โดยใช้ตัวเลขของสำนักงานนโยบายและธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เป็นข้อมูลในการคำนวณอัตราค่าโดยสารแล้ว มีอัตราค่าโดยสารเริ่มต้น 15 บาท สูงสุด 45 บาท (30 สถานี)
อย่างไรก็ตาม ในช่วงระหว่างวันที่ 31 ธันวาคม 2566 – 2 มกราคม 2567 คณะกรรมการ รฟม. จะประกาศยกเว้นอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีชมพู (ช่วงแคราย – มีนบุรี) เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ 2567 และเป็นการส่งเสริมการใช้บริการรถไฟฟ้า อำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสาร สนับสนุนกิจกรรมตามนโยบายของรัฐบาล
โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และส่วนต่อขยาย ช่วงสถานีศรีรัช – เมืองทองธานี มีระยะทาง รวมทั้งสิ้น 34.5 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งยกระดับตลอดสาย มีสถานีให้บริการ 30 สถานี โดยมีจุดเริ่มต้นบนถนนรัตนาธิเบศร์บริเวณระหว่างศูนย์ราชการนนทบุรีและทางแยกแคราย จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนติวานนท์ วิ่งไปจนถึงทางแยกปากเกร็ด แล้วเลี้ยวขวาไปตามแนวถนนแจ้งวัฒนะ ถนนรามอินทรา จนถึงแยกมีนบุรี แล้ววิ่งเข้าเมืองมีนบุรี ตามแนวถนนสีหบุรานุกิจ จากนั้นจะข้ามคลองสามวาและเลี้ยวขวาข้ามคลองแสนแสบและข้ามถนนรามคำแหง จนสิ้นสุดบริเวณทางแยกร่มเกล้า โดยมีศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าและอาคารจอดแล้วจร (Park and Ride) ตั้งอยู่บริเวณสถานีมีนบุรี