ในปีที่ผ่านมา(2566) นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามายังประเทศไทย และเลือก “จังหวัดภูเก็ต” เป็นจุดหมายปลายทางแรกของการท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าสู่เกาะภูเก็ตสูงถึง 11,300,498 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากในปี 2565 ที่ประมาณ 5,628,483 มากกว่าร้อยละ 100.00 และสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวกกว่า 388,017.18 ล้านบาท จำแนกเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงถึง 8,376,464 ล้านคน ปรับตัวสูงขึ้นคิดเป็นร้อยละมากกว่า 153.00 นักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน รัสเซีย ออสเตรเลีย อินเดีย และฮ่องกง
นอกจากนี้พบว่าเมกะโปรเจกต์ทั้งจากภาครัฐและเอกชนรายใหญ่ให้ความสนใจเตรียมเข้าไปพัฒนาโครงการต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตด้วยมูลค่ารวมกว่า 100,000 ล้านบาท เช่น แผนพัฒนาโครงการ บลู เพิร์ล ซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ของ บริษัท เดอะ มอลล์ กรุ๊ป มีขนาดเนื้อที่รวมประมาณ 150 ไร่ พื้นที่ทั้งหมดของโครงการอยู่ที่ 650,000 ตารางเมตร ใช้งบลงทุนราวๆ 10,000 ล้านบาท นอกจากนี่ ยังมีการพัฒนาโครงการขยายสนามบินนานาชาติภูเก็ตเฟส 3 ของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) มูลค่าลงทุน 1.4 หมื่นล้านบาท เพื่อขยายการรองรับผู้โดยสารสูงสุด 25 ล้านคน/ปี และโครงการก่อสร้างสนามบินภูเก็ตแห่งที่ 2 (สนามบินอันดามัน) ในพื้นที่บริเวณ ต.โคกกลอย และ ต.หล่อยูง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ประมาณ 7,300 ไร่ เบื้องต้นจะใช้วงเงินลงทุน 80,000 ล้านบาท คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ในปีพ.ศ. 2572-2573 ส่งผลให้อสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่โดยรอบได้รับความสนใจจากผู้พัฒนาที่เตรียมจะพัฒนาโครงการใหม่บริเวณรอบๆ และจากกลุ่มลูกค้าทั้งชาวไทยและต่างชาติเป็นจำนวนมาก และอานิสงค์จากการเติบโตของการท่องเที่ยวและแผนการพัฒนาโครงการพื้นที่ฐานอีกหลายโครงการจากภาครัฐในภูเก็ตที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง 1 – 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ภาพรวมอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ภูเก็ตปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนและโดดเด่นที่สุดเมื่อเทียบกับเมืองท่องเที่ยวอื่นๆ ในปีที่ผ่านมา
ราคาที่ดินขยับสูง ทำเลติดชายหาดเสนอขายไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทต่อไร่
นายภัทรชัย ทวีวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส ประเทศไทย เปิดเผยถึง ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจังหวัดภูเก็ต มีการเติบโตอย่างรวดเร็วส่งผลให้ราคาที่ดินในพื้นที่เกาะภูเก็ตมีการปรับตัวสูงขึ้นแบบก้าวกระโดดเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะทำเลยอดนิยม คือ ในพื้นที่บางเทา เชิงทะเล และพื้นที่โดยรอบลากูน่า พบว่าที่ดินที่อยู่ในระยะที่ห่างไกลจากทะเลมีราคาเสนอขายอยู่ที่ประมาณไร่ละ 25-40 ล้านบาท และที่ดินที่ใกล้ทะเลหรือติดชายหาดสำคัญๆ พบว่ามีราคาเสนอขายที่สูงกว่า 100 ล้านบาทต่อไร่ ซึ่งจากราคาที่ดินที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ผู้พัฒนารายเล็กๆ ในพื้นที่หาที่ดินนำมาพัฒนาโครงการใหม่ได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากไม่สามารถสู่กับผู้พัฒนารายใหญ่ที่มีต้นทุนที่ดีกว่าได้ โดยเฉพาะพื้นที่ภูเก็ตฝั่งตะวันตกย่าน บางเทา เชิงทะเล และพื้นที่โดยรอบลากูน่าเป็นทำเลยอดนิยมที่กำลังซื้อต่างชาติและกำลังซื้อไทยให้ความนิยมเป็นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากผลตอบแทนจากการลงทุนที่ค่อนข้างสูง พบว่าในบางโครงการสามารถปล่อยเช่าได้สูงกว่า 1,000-1,200 บาทต่อตารางเมตร ซึ่งเทียบเท่ากับการลงทุนในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน
ตลาดคอนโดคึกคัก ค่ายอสังหาฯแห่ผุดโครงการไม่ต่ำกว่า 8,000 ยูนิต มูลค่าเฉียด 50,000 ล้านบาท
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีโครงการคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่ในจังหวัดภูเก็ต 32,163 หน่วย โดยพบว่าในปีพ.ศ. 2566 ที่ผ่านมาอุปทานเปิดขายใหม่คอนโดมิเนียมในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตมากถึง 36 โครงการ 8,743 หน่วย ด้วยมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 49,559 ล้านบาท ซึ่งพบว่าเป็นอุปทานเปิดขายใหม่ของตลาดคอนโดมิเนียมที่สูงที่สุดเท่าที่เคยมีมาในเกาะภูเก็ต ผู้พัฒนารายใหญ่ทั้งจากกรุงเทพมหานครและผู้พัฒนารายใหญ่ในพื้นที่ต่างพากันเปิดตัวโครงการใหม่กันอย่างคึกคัก เช่น บมจ. แสนสิริ, บมจ. แอสเซทไวส์, บมจ. ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้, บจ. บริษัท ฮาบิแทท กรุ๊ป ซึ่งปกติแล้วคอนโดมิเนียมที่เปิดขายใหม่ในแต่ละปีในจังหวัดภูเก็ตมีเพียงแค่ปีละประมาณ 2,000 -3,000 ยูนิตต่อปีเท่านั้น เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก บวกกับโครงการการลงทุนจากภาครัฐและเอกชนเป็นเสมือนแรงผลักดันที่สำคัญให้ตลาดคอนโดมิเนียมในจังหวัดภูเก็ตมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งคาดการณ์ว่า สำหรับในปีพ.ศ.2567 อาจมีคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่เข้าสู่ตลาดอีกกว่า 4,500 ยูนิต
ณ สิ้นปีพ.ศ 2566 พบว่าในพื้นที่เกาะภูเก็ตมีอุปทานคอนโดมิเนียมที่อยู่ในระหว่างการขายในตลาดทั้งหมด 75 โครงการ ด้วย ด้วยยูนิตขายทั้งหมด 22,253 ยูนิต ขายไปแล้ว 14,484 ยูนิตหรือคิดเป็นร้อยละ 65.08 และมีหน่วยขายรอการระบายทั้งหมด 7,769 ยูนิต คิดเป็นร้อยละ 34.91 และพบว่าผู้พัฒนาส่วนใหญ่ให้ความสนใจพัฒนาโครงการในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของจังหวัดภูเก็ตมากที่สุด โดยเฉพาะในพื้นที่ บางเทา เชิงทะเล พื้นที่โดยรอบลากูน่า และกมลา เป็นต้น และส่วนใหญ่เป็นรูปแบบ 1 ห้องนอนที่สัดส่วนร้อยละ 53.27 และพื้นที่ขนาด 31-50 ตารางเมตรที่สัดส่วนร้อยละ 48.63 และช่วงราคา 5.0-10.0 พบว่ามีสัดส่วนที่สูงสุดคิดเป็นร้อยละ 30.93 ขณะที่อัตราการดูดซับเฉลี่ยต่อเดือนสูงถึงร้อยละ 5.40 และพบว่าคอนโดมิเนียมในเกาะภูเก็ตในช่วงราคา 1.0-2.0 ล้านบาทต่อยูนิต มีอัตราการดูดซับสูงถึงร้อยละ 9.9 ซึ่งถือว่าเป็นอัตราการดูดซับที่สูงกว่าตลาดคอนโดมิเนียมในพื้นที่กรุงเทพมหานครด้วยซ้ำ

ซึ่ง บมจ. ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ มีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดที่ประมาณ 1,863 ยูนิต คิดเป็นร้อยละ 8.37 ของตลาด ตามมาด้วย บมจ. ลากูน่า รีสอร์ท แอนด์ โฮเท็ล 1,518 ยูนิต คิดเป็นร้อยละ 6.82 ของตลาด และบมจ. แสนสิริ ที่ประมาณ 1,400 ยูนิตคิดเป็นร้อยละ 6.29

ผุดบ้านพักตากอากาศสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 61 โครงการ สูงกว่า 1,000 ยูนิต
สำหรับอุปทานเปิดขายใหม่ของบ้านพักตากอากาศในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตในปีพ.ศ. 2566 ที่ผ่านมาเติบโตแบบก้าวกระโดดเช่นเดียวกัน โดยพบว่ามีอุปทานเปิดขายใหม่ของบ้านพักตากอากาศมากถึง 61 โครงการ จำนวน 1,108 ยูนิต ด้วยมูลค่าการพัฒนารวมกว่า 51,002 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นอุปทานเปิดขายใหม่ที่สูงที่สุดเท่าที่เคยมีมาของจังหวัดภูเก็ตเช่นเดียวกัน และส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของเกาะ โดยเฉพาะทำเลย่านบางเทา เชิงทะเล และพื้นที่โดยรอบลากูน่า เป็นต้น สำหรับทำเลย่านบางเทา และเชิงทะเลในปีที่ผ่านมา ผู้พัฒนารายใหญ่ในพื้นที่ เช่น บมจ. ลากูน่า รีสอร์ท แอนด์ โฮเท็ล รวมถึงผู้พัฒนารายใหญ่จากกรุงเทพมหานคร เช่น บมจ. แสนสิริ, บมจ. แอสเซทไวส์, บมจ. ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้, บจ. ฮาบิแทท กรุ๊ป รวมถึง บมจ. ไซมิส แอสเสท ให้ความสนใจเข้าไปพัฒนาโครงการบ้านพักตากอากาศบนทำเลย่านนี้เป็นครั้งแรก และหลายโครงการได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้ซื้อเป็นอย่างดี โดยเฉพาะกำลังซื้อรัสเซีย เป็นต้น
สำหรับภาพรวมตลาดบ้านพักตากอากาศในพื้นที่เกาะภูเก็ต ณ สิ้นปี พ.ศ. 2566 พบว่า มีอุปทานที่อยู่ระหว่างการขายทั้งหมด 107 โครงการ ด้วยยูนิตขายทั้งหมด 2,316 ยูนิต และสามารถขายออกไปแล้ว 1,220 ยูนิต เหลือยูนิตรอการขาย 1,096 ยูนิต โดยพบว่ามากกว่าร้อยละ 98.00 เป็นประเภทบ้านเดี่ยว และอยู่ในช่วงราคาต่ำกว่า 30 ล้านบาทต่อยูนิตเป็นส่วนใหญ่คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 39.89 ตามมาด้วยในช่วงระดับราคา 30-50 ล้านบาทที่สัดส่วนร้อยละ 38.21 และช่วงระดับราคา 50-70 ล้านบาทคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10.45 และพบว่ามากกว่าร้อยละ 46.07 เป็นรูปแบบ 3 ห้องนอนและมีขนาดพื้นที่ใช้สอยในช่วง 300-500 ตารางเมตร

ตลาดบ้านพักตากอากาศในช่วงปีพ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา ได้ความสนใจจากำลังซื้อต่างชาติเป็นอย่างมาก รวมถึงกลุ่มลูกค้าคนไทยทั้งจากกรุงเทพมหานครและคนไทยในพื้นที่ ลูกค้าจากประเทศกลุ่มยุโรป เช่น เยอรมัน เดนมาร์ก และกำลังซื้อจากชาติในกลุ่มเอเชีย เช่น จีน ฮ่องกง และ สิงคโปร์ เป็นต้น
โครงการบ้านพักตากอากาศหลายโครงการสามารถปิดยอดการขายได้มากกว่าร้อยละ 80.00 เพียงแค่ในช่วงเวลาสั้นๆ หลังจากการเปิดขายเท่านั้น และส่วนใหญ่ถูกเหมาซื้อไปโดยกำลังซื้อต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้ารัสเซีย ทั้งที่ซื้อเพื่อการลงทุนและการอยู่อาศัย
โดย บจ. โบทานิก้า ลักซูรี่ ภูเก็ต ผู้พัฒนารายใหญ่ในพื้นที่ภายใต้แบรนด์ โบทานิก้า ครองสัดส่วนตลาดสูงที่สุดคิดเป็นร้อยละ 21.32 ตามมาด้วย บจ. เพิร์ล ไอซ์แลนด์ พร็อพเพอร์ตี้ ผู้พัฒนารายใหญ่ในพื้นที่เช่นเดียวกัน ภายใต้แบรนด์ อัญชัน ครองสัดส่วนของตลาดคิดเป็นร้อยละ 10.18 และ บจ. อันดามัน แอสเซท โซลูชั่น ที่สัดส่วนร้อยละ 4.14

ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส ประเทศไทย คาดการณ์ว่า ตลาดบ้านพักตากอากาศและตลาดคอนโดมิเนียมในพื้นที่เกาะภูเก็ตจะยังคงคึกคักอย่างต่อเนื่องในปีพ.ศ. 2567 ผู้พัฒนารายใหญ่ทั้งจากกรุงเทพมหานครและผู้พัฒนารายใหญ่ในพื้นที่ยังคงมองเห็นโอกาสการลงทุนเปิดตัวโครงการใหม่อย่างต่อเนื่องในปีนี้ ซึ่งพบว่า Branded Residence โครงการใหญ่ เช่นโครงการ The Standard Residences Phuket Bangtao รวมถึงผู้พัฒนารายใหญ่อีกเป็นจำนวนมากต่างรอการเปิดตัวโครงการใหม่อย่างคึกคักในปีนี้ โดยเฉพาะทำเลย่าน บางเทา เชิงทะเล พื้นที่โดยรอบลากูน่า และกมลา เป็นต้น ถือว่าเป็นทำเลที่มีความโดดเด่นเป็นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมาของตลาดคอนโดมิเนียมและบ้านพักตากอากาศในจังหวัดภูเก็ต โดยทำเลดังกล่าวส่วนใหญ่เน้นการขายแบบการรันตีค่าเช่าโดยมีทั้ง 5% 3 ปี หรือ 7% 3 ปี แตกต่างกันไป ซึ่งส่วนใหญ่ทุกโครงการ มียอดขายในส่วนของต่างชาติร้อยละ 49.00 ค่อนข้างจะเต็มทุกโครงการ แต่หากมีลูกค้าชาวต่างชาติสนใจเพิ่มเติมก็จะขายแบบเช่าระยะยาวแบบ 30 + 30 + 30 ปี เพื่อเป็นการเปิดโอกาสการขายที่เพิ่มขึ้นสำหรับกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติที่มีกำลังซื้อโดดเด่นเป็นอย่างมาก