รอลุ้นทั้งฝั่งคนซื้อบ้านและผู้ประกอบการว่าเมื่อไหร่ภาครัฐจะออกมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อภาคธุรกิจอสังหาฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์สำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ถึง 10 % ของจีดีพี แม้ในช่วง1-2ปีที่ผ่านมาธุรกิจอสังหาฯจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นหลังจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่ในปีนี้ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ประเมินว่า ตลาดอสังหาฯในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย เพราะยังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน ทั้งเศรษฐกิจไทยที่อาจจะชะลอตัวลงจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว การยกเลิกมาตรการผ่อนปรน LTV ค่าครองชีพที่สูงขึ้น และภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังคงมีอัตราส่วนที่สูงกว่า 90% ของ GDP
ล่าสุดมีข่าวดีว่าในวันที่ 9 เมษายนนี้ กระทรวงการคลังจะเสนอมาตรการกระตุ้นอสังหาฯเข้า ครม.โดยจะขยายวงเงินลดค่าโอน-จดจำนองที่อยู่อาศัยจากเดิมราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทเพิ่มเป็น 7 ล้านบาท หลังจากเมื่อวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงข่าวว่า นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตีช่วยว่าการกระทรวงการคลังได้เตรียมพิจารณาทบทวนมาตรการช่วยเหลือภาคอสังหาริมทรัพย์ให้เติบโตขึ้น โดยกำลังพิจารณามาตรการลดค่าจดทะเบียนการโอนจากเดิม 2% เหลือ 1 % และค่าจดจำนองจากเดิม 1% เหลือ 0.01 % ซึ่งปัจจุบันมาตรการนี้ช่วยเหลือเฉพาะอสังหาฯ ที่ราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ไม่เกิน 3 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 3 ล้านบาท โดยจะขยายให้ราคาซื้อขายเกิน 3 ล้านบาทมีสิทธิเข้าร่วมมาตรการด้วย แต่ให้สิทธิเฉพาะ 3 ล้านบาทแรก
ขณะที่รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 9 เมษายนนี้ กระทรวงการคลังเตรียมเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ ในการปรับปรุงมาตรการทางภาษีและค่าธรรมเนียม และมาตรการทางการเงินเพื่อสนับสนุนภาคอสังหาฯ
โดยจะมีการลดค่าจดทะเบียนโอนอสังหาฯจากปกติ 2% เหลือ 0.01% และค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาฯ ที่เป็นการจดทะเบียนโอนอสังหาฯในคราวเดียวกัน จากปกติ 1% เหลือ 0.01% สำหรับการซื้อขายอสังหาฯ ทั้งบ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถว อาคารพาณิชย์ ที่ดินพร้อมอาคาร และห้องชุดที่จดทะเบียนอาคารชุด โดยมีราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ไม่เกิน 7 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 7 ล้านบาทต่อสัญญา โดยไม่รวมถึงกรณีซื้อขายเฉพาะส่วน
ซึ่งมาตรการนี้เป็นการปรับปรุงมาตรการเดิมที่กระทรวงการคลังเคยมีมาตรการในการลดค่าจดทะเบียนสิทธิ และนิติกรรม รวมทั้งการโอนและค่าจดจำนองให้กับอสังหาฯที่ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท โดยให้มาตรการดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่กฎหมายได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567
นอกจากนี้กระทรวงการคลังยังได้ประสานไปยังกระทรวงมหาดไทยเพื่อยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องจำนวน 4 ฉบับ ได้แก่ ร่างกฎกระทรวงยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับการโอนและการจำนองจากการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อสนับสนุนและบรรเทาภาระให้แก่ประชาชนที่ต้องการที่มีอยู่อาศัยของตนเอง พ.ศ.2566 พ.ศ. … จำนวน 1 ฉบับ
ร่างกฎกระทรวงยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับการโอนและการจำนองจากการซื้อขายห้องชุดเพื่อสนับสนุนและบรรเทาภาระให้แก่ประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง พ.ศ.2566 พ.ศ. … จำนวน 1 ฉบับ
ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน กรณีอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารที่อยู่อาศัย หรืออาคารพาณิชย์ หรือที่ดินพร้อมอาคารที่อยู่อาศัยหรืออาคารพาณิชย์ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนดจำนวน 1 ฉบับ
ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนและนิติกรรมตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด กรณีห้องชุด ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด จำนวน 1 ฉบับ
ทั้งนี้กระทรวงการคลังคาดว่า มาตรการดังกล่าวจะช่วยให้เกิดการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์มูลค่าประมาณ 799,374 ล้านบาทต่อปี เพิ่มการบริโภคในประเทศได้กว่า 118,413 ล้านบาทต่อปีหรือประมาณ 9,868 ล้านบาทต่อเดือน และเพิ่มการลงทุนได้ประมาณ 464,971 ล้านบาทต่อปี หรือ 38,748 ล้านบาทต่อเดือน และส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)เพิ่มขึ้น 1.58% ต่อปี เมื่อเทียบกับกรณีไม่มีมาตรการ
ขณะเดียวกันมาตรการนี้จะทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สูญเสียรายได้จากค่าจดทะเบียนโอนอสังหาฯและค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาฯ จากปัจจุบันประมาณ 5,299 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็น 442 ล้านบาทต่อเดือน เป็นจำนวนประมาณ 23,822 ล้านบาทต่อปี หรือประมาณ 1,985 ล้านบาทต่อเดือน