คลังจัดหนักมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ขยายเพดานลดค่าโอนบ้านจาก 3 ล้านเพิ่มเป็นไม่เกิน7 ล้านบาท

You are currently viewing คลังจัดหนักมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ขยายเพดานลดค่าโอนบ้านจาก 3 ล้านเพิ่มเป็นไม่เกิน7 ล้านบาท

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 9 เมษายน 2567 มีมติเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์เพื่อสนับสนุนการมีที่อยู่อาศัยของประชาชน และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาฯและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคอสังหาฯทั้งห่วงโซ่อุปทานการผลิต (Supply Chain) ส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศ เพื่อก่อให้เกิดการจ้างงาน การผลิต รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งจะส่งผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภาพรวม ประกอบด้วย

มาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม โดยลดค่าจดทะเบียนโอนอสังหาฯจาก 2% เหลือ 0.01% และลดค่าจดทะเบียนการจำนองจาก 1% เหลือ 0.01% เฉพาะอสังหาฯที่จดทะเบียนโอนในคราวเดียวกัน สำหรับการซื้อขายที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยว บ้านแฝด หรือบ้านแถว อาคารพาณิชย์ ที่ดินพร้อมอาคาร และอาคารชุด

โดยขยายเพดานราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์จากเดิมกำหนดไว้ไม่เกิน 3 ล้านบาทเพิ่มเป็นไม่เกิน7 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 7 ล้านบาทต่อสัญญา ทั้งนี้ไม่รวมถึงกรณีการขายเฉพาะส่วน โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่กฎหมายได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567

มาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้ที่ต้องการปลูกสร้างบ้าน สามารถหักลดหย่อนค่าจ้างก่อสร้างบ้านให้แก่ผู้รับจ้าง ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการจ่ายค่าจ้างตามสัญญาจ้างเริ่ม โดยให้หักลดหย่อนภาษีได้ 1 หมื่นบาทต่อทุกจำนวนค่าก่อสร้าง 1 ล้านบาท ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 1 แสนบาท เฉพาะค่าจ้างก่อสร้างบ้านไม่เกิน 1 หลังในปีภาษีที่ก่อสร้างบ้านเสร็จ ตามสัญญาจ้างที่ได้กระทำขึ้นและเริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2567 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 และได้เสียอากรแสตมป์โดยวิธีการชำระอากรเป็นตัวเงินผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต

โครงการสินเชื่อบ้าน Happy Home วงเงิน 20,000 ล้านบาท โดยมอบหมายให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ปล่อยกู้สินเชื่อบ้านให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง เพื่อซื้อที่ดินพร้อมอาคาร หรือห้องชุด ปลูกสร้างอาคารหรือซื้อที่ดินพร้อมปลูกสร้างอาคาร และซื้ออุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวเนื่องเพื่อใช้ในการอยู่อาศัย คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ 3% เป็นระยะเวลา 5 ปี วงเงินต่อรายสูงสุดไม่เกิน 3 ล้านบาท ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 40 ปี โดยสามารถยื่นคำขอกู้ได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2568 หรือจนกว่ากรอบวงเงินของโครงการจะเต็ม

โครงการสินเชื่อบ้าน Happy Life วงเงิน 10,000 ล้านบาท เพื่อให้ธอส.ปล่อยกู้ให้ประชาชนสำหรับซื้อที่ดินพร้อมอาคารหรือห้องชุด ปลูกสร้างอาคารหรือซื้อที่ดินพร้อมปลูกสร้างอาคาร รวมถึงการต่อเติมหรือซ่อมแซมอาคาร และการไถ่ถอนจำนองจากสถาบันการเงินอื่น คิดอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรกอยู่ที่ 2.98% ต่อปี วงเงินต่อรายตั้งแต่ 2.5 ล้านบาทขึ้นไป สามารถยื่นคำขอกู้กับ ธอส. ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะเต็มตามกรอบวงเงินของโครงการ

มาตรการส่งเสริมกิจการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย ของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI) ซึ่งได้ออกประกาศที่ ส. 1/2567 ลงวันที่ 15 มีนาคม 2567 ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ประกอบการอสังหาฯได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 3 ปี ในวงเงิน ไม่เกิน 100% ของเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) สำหรับการสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท  ประกอบด้วย อาคารชุดต้องมีพื้นที่ใช้สอยไม่น้อยกว่า     24 ตารางเมตร และบ้านเดี่ยวหรือบ้านแถว ต้องมีพื้นที่ใช้สอยไม่น้อยกว่า 70 ตารางเมตร โดยต้องมีที่อยู่อาศัยตามเงื่อนไขที่กำหนดไม่น้อยกว่า 80% ของที่อยู่อาศัยทั้งโครงการ

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังได้มอบหมายให้ธนาคารออมสินจัดทำโครงการสินเชื่อบ้านออมสินเพื่อประชาชน วงเงินโครงการ 10,000 ล้านบาท สำหรับซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ห้องชุด หรือปลูกสร้างที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง คิดอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรกอยู่ที่ 2.95%  โดยปีที่ 1 คิดดอกเบี้ย1.95% วงเงินกู้ต่อรายสูงสุดไม่เกิน 7 ล้านบาท ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 40 ปี พร้อมปรับเงื่อนไขการผ่อนเงินงวดอัตราต่ำพิเศษ เริ่มต้น 2,500 บาทต่อเดือน โดยสามารถยื่นคำขอกู้ได้ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2567

และโครงการสินเชื่อ D-HOME สำหรับผู้ประกอบการ วงเงินโครงการ 10,000 ล้านบาท สนับสนุนให้ผู้ประกอบการนำเงินกู้ไปใช้เป็นเงินลงทุนสำหรับค่าที่ดิน ค่าก่อสร้าง ค่าพัฒนาสาธารณูปโภค หรือเป็นเงินหมุนเวียนในกิจการ คิดดอกเบี้ยเริ่มต้น 3.50% ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 4 ปี ฟรีค่าธรรมเนียม โดยสามารถยื่นคำขอกู้ได้ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2567 เป็นต้นไป

ธอส.สานต่อบ้านล้านหลังจัดสินเชื่อบ้าน Happy Home” วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท

นายกมลภพ วีระพละ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ธอส. ได้เดินหน้าช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ด้วยการสนับสนุนสินเชื่อที่อยู่อาศัยในเงื่อนไขผ่อนปรนให้สามารถจัดหาที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองให้สอดคล้องกับคุณภาพชีวิตและความเหมาะสมของรายได้ โดยได้จัดทำ “โครงการสินเชื่อบ้าน Happy Home” กรอบวงเงิน 20,000 ล้านบาท สำหรับผู้ที่ต้องการซื้อบ้าน คอนโดมิเนียม ปลูกสร้าง และเพื่อซื้ออุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวเนื่องกับที่อยู่อาศัย (ตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด) ในระดับราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท

“โครงการสินเชื่อบ้าน Happy Home เป็นโครงการที่สานต่อจากโครงการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยแห่งรัฐ (บ้านล้านหลัง) ที่ได้รับการตอบรับอย่างดีจากลูกค้าทั้ง 3 ระยะ โดย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567 มีลูกค้าเข้าร่วมโครงการรวมทั้งสิ้น 89,180 บัญชี คิดเป็นวงเงินสินเชื่อสูงถึง 75,685 ล้านบาท”

โดยเน้นกลุ่มผู้มีรายได้ต่อเดือนไม่เกิน 25,000 บาท พร้อมทั้งได้พิจารณาเกณฑ์รายได้ไม่เกิน 1 ใน 2 ของรายได้สุทธิต่อเดือน ส่วนกลุ่มผู้มีรายได้ต่อเดือนเกิน 25,000 บาท เงื่อนไขเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด คิดดอกเบี้ยคงที่ 5 ปีแรก 3.00% ปีที่ 6-7 เท่ากับ MRR-2.00% ปีที่ 8-9 เท่ากับ MRR-1.50% ปีที่ 10 จนถึงตลอดอายุสัญญา กรณีลูกค้ารายย่อยคิดดอกเบี้ย MRR-0.75% ต่อปี ลูกค้าสวัสดิการเท่ากับ MRR-1.00% ต่อปี และอัตราดอกเบี้ยสำหรับซื้ออุปกรณ์ฯ เท่ากับ MRR (อัตราดอกเบี้ย MRR ปัจจุบันอยู่ที่ 6.90% ต่อปี) พร้อมฟรีค่าประเมินราคาหลักประกัน (1,900 – 2,300 บาท)

7 องค์กรด้านอสังหาริมทรัพย์ร่อนหนังสือขอบคุณรัฐบาล

ขณะที่ 7  องค์กรด้านอสังหาริมทรัพย์ได้ส่งหนังสือถึงสื่อมวลชนเพื่อขอบคุณคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้มีมติคณะรัฐมนตรีและการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ ตามที่ 7 องค์กรด้านอสังหาฯ ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกอบกับทำหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้รัฐบาลได้ออกมาตรการในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ  ผ่านภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในขณะที่เศรษฐกิจโดยรวมยังฟื้นตัวไม่แข็งแรง

 โดยให้ความเห็นว่า แม้ว่าจะเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น แต่ก็เป็นมาตรการที่มีความจำเป็นในขณะที่เศรษฐกิจโดยรวมยังคงชะลอตัวอยู่ โดยมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์และค่าจดจำนองในการซื้อที่อยู่อาศัยจากระดับราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทเพิ่มเป็นราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท  และลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์จาก 1% เป็น 0.01% ผู้ซื้อที่อยู่อาศัยจะได้รับประโยชน์โดยตรงจากการลดภาระค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์

เนื่องจากที่อยู่อาศัยระดับราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท มีสัดส่วนเกินกว่า 85% ของการซื้อขายที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ ทั้งที่อยู่อาศัยมือหนึ่งและมือสอง นอกจากนี้ยังส่งผลดีต่อธุรกิจเชื่อมโยงต่างๆ จำนวนมากไม่ว่าจะเป็น วัสดุก่อสร้าง การจ้างแรงงาน เฟอร์นิเจอร์และวัสดุอุปกรณ์การตกแต่ง เครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงการใช้สาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ไฟฟ้า ประปา รวมถึงจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินในการที่จะจำหน่ายหลักประกันซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยออกไปได้ง่ายขึ้น

ส่วนมาตรการเรื่องการนำเงินที่ว่าจ้างก่อสร้างบ้านมาลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในจำนวนล้านละ 10,000 บาท และโดยรวมไม่เกิน 100,000  บาท นอกจากจะช่วยกระตุ้นให้ประชาชนก่อสร้างที่อยู่อาศัยบนที่ดินของตัวเองแล้ว รัฐบาลยังสามารถเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นจากภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% ของการซื้อวัสดุก่อสร้างต่างๆ ในการก่อสร้างบ้าน และผู้รับจ้างสร้างบ้านจะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลอีก 20% (แล้วแต่กรณี )

นอกจากนี้ยังเป็นการจูงใจให้ผู้ทำธุรกิจรับสร้างบ้านไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลต้องเข้าสู่ระบบการเสียภาษีมากขึ้น เพราะผู้ที่จะว่าจ้างให้ก่อสร้างบ้านย่อมจะต้องกดดันให้ผู้รับจ้างสร้างบ้านต้องทำสัญญาโดยถูกต้อง เพื่อผู้ว่าจ้างสร้างบ้านจะได้รับการลดหย่อนภาษีของตนเองในการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

 ขณะที่มาตรการขยายวงเงินสินเชื่อบ้านล้านหลังจาก 1.5 ล้านบาทเป็น 3 ล้านบาท คิดดอกเบี้ยไม่เกิน 3% กรณีนี้เป็นผลดีอย่างมากต่อผู้มีรายได้น้อยและปานกลางที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัย เพราะสามารถที่จะขอสินเชื่อได้ง่ายขึ้น ลดอัตราการปฏิเสธสินเชื่อจากสถาบันการเงินลงได้ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงจะทำให้อัตราการผ่อนต่อเดือนลดลง ประกอบกับ ประชาชนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีความจำเป็นต้องมีที่อยู่อาศัย ซึ่งมาตรการนี้จะเป็นประโยชน์ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคมด้วย

 ส่วนเรื่องการส่งเสริมให้มีการจัดสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยและปานกลางโดยใช้หลักเกณฑ์ของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) สำหรับที่อยู่อาศัยระดับราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท มาตรการดังกล่าวจะมีส่วนผลักดันให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยและปานกลางมากขึ้นทั่วประเทศ ทำให้ผู้ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในราคาไม่เกิน 1.5  ล้านบาท สามารถเลือกซื้อที่อยู่อาศัยในทำเลและระดับราคาที่ต้องการได้  นอกจากนี้ยังเป็นการแบ่งเบาภาระหน่วยงานของรัฐที่ต้องได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการจัดสร้างที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง